วิธีรับมือ "เมารถ-เมาเรือ" เตรียมพร้อมก่อนเที่ยว วันหยุดสงกรานต์

12 เม.ย. 2566 | 04:25 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 04:26 น.

"GEN HEALTHY LIFE" แนะวิธีบรรเทาและป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ มาฝากเตรียมพร้อมก่อนออกเดินทางไกลช่วง "สงกรานต์"

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นโอกาสที่หลายคนใช้เวลากับครอบครัว รวมทั้งเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่การเดินทางระยะไกลติดต่อกันนานหลายชั่วโมงบวกกับรถยนต์เป็นระยะมักส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้ง “อาการเมารถ” คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ  ซึ่ง “GEN HEALTHY LIFE” มีข้อแนะนำสำหรับการเตรียมพร้อมรับมืออาการเมารถ เมาเรือ มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้างไปดูกันเลย

7 วิธีรับมืออาการเมารถ เมาเรือ เตรียมพร้อมก่อนเดินทางช่วงสงกรานต์

1 “มองตรงไปข้างหน้าเสมอ”  ระหว่างอยู่บนรถควรนั่งในท่านั่งที่สบายที่สุดและมองตรงไปข้างหน้า โทรศัพท์ หนังสือ เก็บเข้ากระเป๋าให้หมดไม่ควรนำมาเล่นหรืออ่านระหว่างเดินทาง 

2 เปิดหน้าต่างหรือเร่งแอร์เพื่อ “พยายามสูดอากาศบริสุทธิ์ให้ได้มากที่สุด” เนื่องจากอากาศภายในรถออกซิเจนอาจไม่เพียงพอจนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ขึ้นมาได้ ลองหลับตาและหายใจช้าๆ สัก 2-3 นาที 

3 “ทานขิง” ก่อนออกเดินทาง เพราะขิงเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยบรรเทาความปั่นป่วนในท้องของเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการทานขิงเพื่อให้ท้องเรารู้สึกเบาสบายขึ้นจึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยก่อนเดินทางไกล

4 ค่อย ๆ “จิบน้ำ” ระหว่างวัน อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด เพราะภาวะขาดน้ำยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเมารถได้ ดังนั้นเราควรดื่มน้ำให้เพียงพอ

5 “หักเหความสนใจของตัวเอง” เบี่ยงเบนความสนใจของตัวเราเองจากการกดโทรศัพท์ แล้วลองชวนเพื่อนร่วมทางพูดคุย หรือเปิดเพลงฟังแล้วหลับตา วิธีนี้จะช่วยให้หายเวียนหัวได้ 

6 หากเรามีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือคุยงานระหว่างเดินทาง การ “เปลี่ยนการตั้งค่าโทรศัพท์” โดยการลดแสงขาวระหว่างใช้งาน เพราะแสงที่จ้าเกินไปทำให้เราปวดกระบอกตาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเมารถขึ้นมาได้ 

7 “ทานอาหารเบาท้อง” ก่อนออกเดินทางเราไม่ควรทานอาหารอิ่มมากเกินไปเพราะจะทำให้อาการคลื่นไส้ขณะกำลังเดินทางรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นควรทานอะไรที่เบา ๆ เช่น แครกเกอร์ องุ่น หรือ แอปเปิ้ลเขียว รับรองได้เลยว่าการเดินทางครั้งนี้ราบรื่น ถึงจุดหมายปลายทางแบบสดชื่นแน่นอน!

อาการเมารถ เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยสำหรับหลาย ๆ คน แต่หากปฏิบัติตาม 7 ข้อที่แนะนำแล้วยังไม่หาย อย่าลืมไปตรวจสุขภาพเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะบางครั้งเราอาจขาดธาตุเหล็ก มีภาวะโลหิตจางแบบไม่รู้ตัว หรือ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เราเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้