thansettakij
"กัญชา" รักษาอาการอะไรได้บ้าง มีข้อควรระวังอย่างไร เช็คที่นี่

"กัญชา" รักษาอาการอะไรได้บ้าง มีข้อควรระวังอย่างไร เช็คที่นี่

20 พ.ค. 2566 | 01:53 น.

"กัญชา" รักษาอาการอะไรได้บ้าง มีข้อควรระวังอย่างไร เช็คที่นี่มีคำตอบ กรมการแพทย์เผยปรับปรุงให้คำแนะนำทางการแพทย์การใช้กัญชาทางการแพทย์มีความทันสมัย เหมาะสมกับเหตุการณ์

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์สารกัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ 

  • ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 
  • โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา  
  • ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 
  • ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง 
  • ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 
  • การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ และมีการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติ

หลายประเทศทั่วโลกได้มีการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อเป็นยารักษาโรคเนื่องจากมีการศึกษาวิจัยสนับสนุนถึงประโยชน์ และข้อพึงระวังจากการใช้กัญชามากขึ้น กรมการแพทย์ได้ทำการทบทวนองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้คำแนะนำทางการแพทย์การใช้กัญชาทางการแพทย์มีความทันสมัย เหมาะสมกับเหตุการณ์ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ (Guidance on Cannabis for Medical Use) ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 (2565) โดยเป็นเครื่องมือในการให้การดูแล รักษา ควบคุมอาการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัย ประสิทธิผล การเข้าถึงการรักษาเป็นสำคัญ 
 

โดยหวังผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งคำแนะนำนี้มิใช่ข้อบังคับของการปฏิบัติ ผู้ใช้สามารถปฏิบัติตามดุลพินิจภายใต้ความสามารถ ข้อจำกัดตามภาวะวิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่  

กัญชารักษาอาการอะไรได้บ้าง มีข้อควรระวังอย่างไร กัญชารักษาอาการอะไรได้บ้าง มีข้อควรระวังอย่างไร

"กรมการแพทย์ยังคงยึดมั่นในหลักการทำงาน 3 ประการ คือ 1. ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย (do no harm) 2.ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย (patient benefit) และ 3. ต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง (no hidden agenda)"

อย่างไรก็ดี การจัดทำคำแนะนำการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ ผ่านกระบวนการสืบค้นโดยใช้คำสำคัญโดยรวมเพื่อให้สืบค้นได้กว้างและได้ข้อมูลมากที่สุด เฉพาะข้อมูลที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษเท่านั้น 

โดยสืบค้นจากฐานข้อมูล Medline ผ่าน PubMed รวมถึงฐานข้อมูล Cochrane Library และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการนำยาสกัดกัญชาทางการแพทย์มาศึกษาวิจัยในประเทศไทยและการใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้แพทย์ และทันตแพทย์สามารถสั่งใช้ และเภสัชกรสามารถจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม 

ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ควบคุมอาการของโรค และภาวะของโรคได้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการศึกษาเชิงทดลองการให้ยาสกัดกัญชาเกรดทางการแพทย์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมชนิด THC:CBD (1:1) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่รับเข้านอนโรงพยาบาลจำนวน 14 คน พบว่า

  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงลดลง 50% (ผู้ป่วยจำนวน 4 รายไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ในช่วงการศึกษา) 
  • ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับก่อนใช้ยาสกัดกัญชานอนหลับได้ทุกคน ผู้ป่วย 83% มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม พบอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 6 คน ได้แก่ ปากแห้งคอแห้ง มีปัญหาควบคุมการเคลื่อนไหว ความสามารถในการรับรู้ลดลง หูแว่ว ประสาทหลอน กรณีที่ใช้ยาสกัดกัญชาชนิด THC เด่นกับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามจำนวน 63 คน 

โดยติดตามผลการรักษาครบ 30 วัน ระดับความรุนแรงของอาการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อาการปวด เหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ซึมเศร้า วิตกกังวล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ 

และกลุ่มอาการที่ไม่แตกต่างกัน ได้แก่ ง่วงซึม สะลึมสะลือ สบายดีทั้งกายและใจ และเหนื่อยหอบ 

นอกจากนี้ พบว่าผู้ป่วยนอนหลับดีขึ้น 65.1% การลดความเจ็บปวด 50.8% และความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น 42.9% รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายมีคะแนนคุณภาพชีวิตสูงขึ้นภายหลังได้รับยาสกัดกัญชา 

ตามผลข้างเคียงพบได้ 19.1% ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่รุนแรง ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน และเวียนศีรษะ