พัชรวาท  หวัง แปรญัตติ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ผลักดันให้กฎหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

20 ม.ค. 2567 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 12:10 น.

"พัชรวาท" หวัง แปรญัตติ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ผลักดันให้กฎหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนในระยะยาว

 

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ลงมติเอกฉันท์รับหลักการใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ ในวาระแรก ด้วยคะแนน 443 เสียง โดยไม่มีผู้คัดค้าน และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ และหวังว่าเมื่อผ่านการแปรญัตติจะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เพื่อจะเป็นกฎหมายเฉพาะที่จะนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในเชิงโครงสร้าง มีการจัดการมลพิษครอบคลุมทั้งแหล่งกำเนิดภายในประเทศและมลพิษข้ามพรมแดน รวมทั้งจะมีกลไกการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ มีการพัฒนาและบูรณาการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบอย่างยั่งยืนเพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษทางอากาศ 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศในระดับรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้นในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดนี้ ได้กำหนดกลไกการควบคุมและจัดการมลพิษซึ่งเข้มงวดกว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยกำหนดเพิ่มมาตรการเฉพาะกับแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภท มาตรการลดมลพิษเฉพาะหน้า ได้แก่

ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งหยุดกิจกรรมกำเนิดมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การประกาศพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การมุ่งหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีเครื่องมือทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม

มลพิษ

การดำเนินการหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการแล้ว ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ที่เสนอไป จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งจำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ทั้ง 7 ฉบับ มีกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน

โดยจะใช้ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา ซึ่งเป็นการพิจารณาในรายละเอียดของกฎหมายรายมาตรา หากคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จจะเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ตามลำดับของกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป นางสาวปรีญาพร กล่าว