พัชรวาทดันมาตรการเพิ่ม แก้ PM2.5 "ทำงานเชิงรุก-ใช้กม.-ตัดสิทธิ์ช่วยเหลือ"

02 มี.ค. 2567 | 04:34 น.

"พัชรวาท"ดันมาตรการเพิ่มเติมแก้ฝุ่น PM2.5 “ทำงานเชิงรุก-บังคับใช้กม.- ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากรัฐ” พร้อมยกระดับการปฏิบัติการในช่วงสถานการณ์วิกฤต

 

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1/2567 มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณารายละเอียดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5

ทั้งนี้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ

1) การตัดสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับเกษตรกรที่ไม่ให้ความร่วมมือยังมีการเผาเศษวัสดุการเกษตร เริ่มจากการเรียกคืนสิทธิ์ทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดสรร อาทิ สปก. นิคมสหกรณ์

2) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน/ลักลอบเผา ทั้ง พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่น และมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดรายละเอียดมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน

และ 3) การสนับสนุนเชิงรุก สร้างมูลค่าเศษวัสดุการเกษตรและการนำไปใช้ประโยชน์ ด้วยการนำจุลินทรีย์มาจัดการเพื่อคืนอินทรีย์วัตถุลงแปลงเกษตร สนับสนุนการนำใบไม้ออกจากป่า เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเผาเพื่อที่จะเข้าไปเก็บผลิตผลจากป่า เช่น เห็ด ผักหวาน และเน้นการสื่อสารเชิงรุก สร้างข้อมูลชุดเดียวกันและสื่อสารในทุกระดับครอบคลุม 77 จังหวัด

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ซึ่งแบ่งระดับการปฏิบัติการเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เมื่อปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน และระดับที่ 2 เมื่อปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 5 วัน

ประชุมแก้ฝุ่น

โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบัญชาการเหตุการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจหน้าที่และยกระดับความเข้มข้นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์หรือสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ใน 5 เรื่องหลัก คือ การจัดการไฟป่า การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นในเขตเมือง หมอกควันข้ามแดน และการดูแลประชาชน และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และกราบเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป

การเผาไหม้