ศธ.ประกาศยกระดับ "โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า" ทั่วประเทศ

14 มี.ค. 2567 | 07:23 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 07:27 น.

กระทรวงศึกษาฯ ยกระดับ "โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า" ทั่วประเทศ ประสานตำรวจจับกุมร้านจำหน่ายรอบสถานศึกษา- ปราบช่องทางออนไลน์ 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเด็กของเราอย่างเข้มข้น 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ

โดยล่าสุดได้ออก 4 มาตรการเข้ม ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งข้อสำคัญอันดับแรก “ต้องทำให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” โดยทางตำรวจจะสืบสวนจับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่รอบสถานศึกษาทุกแห่งอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมตัดวงจรรายใหญ่ ปราบปรามช่องทางออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความรู้แก่ชุมชนสถานศึกษา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนมีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเติมนิโคตินได้ตลอดเวลา ซึ่งนิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน 

ประกาศ "โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า"

จากการสำรวจของกรมควบคุมโรค พบว่าเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 17.6% และเกือบทั้งหมดซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยผลิตให้มีรูปแบบเป็นตัวการ์ตูน กล่องนม ให้ดูเป็นเรื่องธรรมดา เข้าถึงง่าย จนเด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว นับเป็นภัยคุกคามเยาวชนที่ต้องเร่งจัดการโดยด่วน

ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ ให้เข้มงวดตรวจตราการนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียนอยู่เสมอ โดยยึดกฎระเบียบเช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา อ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา เป็นสถานที่สาธารณะ ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด

“ศธ. มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขว่า จะทำอย่างไรเมื่อพบเห็นว่านักเรียนครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ ศธ. มีมาตรการสื่อสารลงไปในโรงเรียนทุกแห่งว่า หากเจอในเด็กนักเรียน เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนผิด เราคิดว่าเป็นเหยื่อ โดยจะจัดให้มีตัว Dropbox เพื่อหย่อนบุหรี่ไฟฟ้าลงไป เหมือนเวลาผ่านด่านศุลกากรต่าง ๆ ในการยึดของกลาง ก็จะส่งให้ตำรวจไปทำลาย” นายสิริพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้เรายังพบการโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าว่าสูบแล้วเท่ สูบแล้วดีกว่า 97% มียอดวิวและยอดไลก์ 98% ใน TIKTOK ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้คนใช้งานมากที่สุดและฮิตมากในอาเซียน ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และผู้ปกครองไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า

ดังนั้นการร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้เข้าถึงตัวเด็ก จึงต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดล้างจับกุมผู้ขาย การปิดกั้นช่องทางออนไลน์ การให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า หรือหากจำเป็นต้องมีการให้บำบัด ทุกหน่วยงานภาครัฐก็พร้อมจะเข้ามาทำงานร่วมกันเสมอ

โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ ศธ. ก็อยากฝากให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกท่าน กวดขันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอยู่เสมอ โดยขอให้มองนักเรียนว่าเป็นลูก ๆ ของท่าน เด็กยังอ่อนต่อโลก ขาดประสบการณ์พิจารณาว่าสิ่งใดเหมาะสม และมักจะทำตามเพื่อน หากเราเริ่มต้นหยุดยั้งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้ถึงมือเด็กแล้ว ก็น่าจะเป็นหนทางที่เด็ก ๆ จะสร้างค่านิยมในกลุ่มเพื่อนถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสารเสพติด หรือสารมึนเมาอื่น ๆ ทำให้สถานศึกษาเป็นสีขาวและปลอดภัยอย่างแท้จริงตามนโยบายการศึกษาของ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข”