จากกรณีที่นายจิระศักดิ์ สุขสายชล ตัวแทนกลุ่มฟื้นฟูคลองกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้ทำจดหมายลงวันที่ 8 มีนาคม 2567 พร้อมนำรายชื่อของประชาชนจำนวน 424 รายชื่อ เข้ายื่นต่อนายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กรณีโรงงาน 3 แห่งที่ตั้งในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้ปล่อยน้ำเสียที่มีกลิ่นเหม็นมาก ลงในคลองกระทุ่มแบนและคลองสาขาในพื้นที่ ต.คลองมะเดื่อ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนด้านสุขภาพอนามัย สุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่วิกฤตจากกลิ่นเน่าเหม็นมากของน้ำในคลองกระทุ่มแบน
กระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 นายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน ร่วมกับนายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนผู้เดือดร้อน ได้เข้าตรวจสอบและประชุมแก้ไขปัญหา กรณีเรื่องร้องเรียน การปล่อยน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น ของ บริษัทแห่งหนึ่ง
คลองยังคงเน่า-เหม็น
จากการตรวจสอบพบว่าระบบบำบัดน้ำเสียของกลุ่มโรงงานดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงได้มีการประชุมหารือกันเพื่อดำเนินการกับระบบบำบัดน้ำเสียของกลุ่มโรงงานดังกล่าว ตามข้อสรุปคือ
1.ทางกลุ่มโรงงานและสถานประกอบการขอระยะเวลาในการปรับปรุงระบบน้ำเสียเพิ่มเติม โดยใช้เวลา 6 เดือน โดยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนระยะเวลาดำเนินการที่วางไว้
2.ในเรื่องของกลิ่นเหม็น-แอมโมเนีย ให้อ้างอิงจากประกาศกรมควบคุมมลพิษ โดยระดับ 1 มีเกณฑ์แอมโมเนีย NH3 ที่ 30 PPM ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมหารือได้ตกลงว่าหากมีกลิ่นที่จุดระบายน้ำและบ่อข้างโรงงานเกิน 15 PPM ให้หยุดการระบายน้ำ โดยทางกลุ่มโรงงานแจ้งยินยอมที่หยุดการระบายน้ำจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้
3.ทางสถานประกอบการดังกล่าวจะต้องจัดทำป้ายแสดงค่าน้ำในช่วงเวลาต่างๆของทุกวัน เพื่อแจ้งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ให้ได้ทราบถึงสภาพน้ำที่โรงงานปล่อยออกมา
ระดมหาทางแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มไลน์รักษ์คลองกระทุ่มแบน ของชาวบ้านที่ร้องทุกข์ ก็ยังรายงานถึงปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำทิ้งที่มีฟองและกลิ่นเหม็น อยู่ตลอดเช่นเดิม โดยขณะนี้ทุกวันชาวบ้านได้บันทึกภาพ VDO และตรวจวัดค่าน้ำ-ตรวจดูสภาพน้ำที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน ทั้งมีการบันทึกภาพที่สงสัยว่าโรงงานที่ถูกร้องเรียน ทำการลักลอบสูบน้ำที่ยังไม่ได้บำบัดนำทิ้งลงในบ่อพักน้ำสุดท้ายหรือระบายลงคลองสาธารณะ
ขณะที่นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ให้ความเห็นว่า ด้วยสภาพความจำเป็นในการตรวจคุณภาพน้ำของทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องใช้เวลานานถึง 15 วัน จึงจะเข้ามาบังคับใช้กฎหมายควบคุมโรงงานได้ ดังนั้นหากเกิดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะเร่งด่วน อาจจำเป็นต้องผนวกอำนาจการใช้กฎหมายของหน่วยงาน อื่นๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น เทศบาลท้องถิ่นสามารถใช้กฎหมายด้านสาธารณสุข ได้เลย เช่นเดียวกับกรมชลประทานที่สามารถใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลแหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง เข้ามาดำเนินการได้โดยเร็ว เช่นกัน
ด้านนายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน มอบหมายให้ นายวงศ์มงคล มั่งมี กำนันตำบลคลองมะเดื่อ ร่วมกับภาคประชาชน ได้แก่ กลุ่มรักษ์กระทุ่มแบนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์คลองกระทุ่มแบน ออกสำรวจปัญหา พร้อมตรวจเยี่ยมและขอความร่วมมือจากโรงงานต่างๆให้เน้นความสำคัญของการบำบัดน้ำเสีย และเฝ้าระวัง-พึงคำนึงถึงผลเสียจากการปล่อยน้ำเน่าหรือน้ำทิ้งที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดตามเกณฑ์มาตรฐาน ลงในลำคลอง ซึ่งจะก่อผลร้ายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตลอดแนวคลอง
นายวงศ์มงคล มั่งมี กำนันตำบลคลองมะเดื่อ เปิดเผยว่า จากการออกสำรวจสภาพคลองกระทุ่มแบนในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ปรากฏว่าได้รับเสียงร้องเรียนจากประชาชนในเขตตำบลคลองมะเดื่อเป็นอย่างมาก และเมื่อได้พบเห็นสภาพน้ำในคลองกระทุ่มแบน รวมถึงได้เข้าพบตรวจเยี่ยมโรงงานต่างๆแล้ว ก็เตรียมเสนอนายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน ให้จัดงบประมาณและเร่งแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนตอนบน ผ่านคลองสาขา ลงมาไล่น้ำเสียในคลองกระทุ่มแบน ให้ไหลไปลงทางคลองสี่วาพาสวัสดิ์ เพื่อดันน้ำเสียให้ไหลไปลงในแม่น้ำท่าจีนตอนล่างต่อไป
นอกจากนั้นการเข้าพบกับโรงงานต่างๆย่านคลองกระทุ่มแบน มีการหารือกันในเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่ทางโรงงานจะหันมาเน้นทำในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย และการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองกระทุ่มแบน รวมถึงการขอให้โรงงานที่มีมาตรการในการบำบัดน้ำเสียและจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีตามมาตรฐานอยู่แล้ว ให้รวมกลุ่มกันเพื่อเฝ้าระวังร่วมกับภาคประชาชน ในการดูแลตรวจสอบ แจ้งเตือนโรงงานที่ยังละเลยการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือทำผิดกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำผิดพ.ร.บ.สาธารณสุขของเทศบาลฯ หรือทำผิดกฎหมายอื่นๆ ของกรมควบคุมมลพิษ – กรมชลประทาน หรือทำผิดกฎหมายด้านสาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม ของหน่วยราชการอื่นๆ ซึ่งเป็นเสมือนการกำกับดูแลกันเองในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับภาคประชาชนในเขตตำบลคลองมะเดื่อ
ปัญหาน้ำในคลองภาษีเจริญและคลองกระทุ่มแบน อยู่ในสภาพวิกฤต โดยเฉพาะบางพื้นที่ในเขตตำบลคลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบนจ.สมุทรสาคร นอกจากจะเน่าเสียพร้อมส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อน ก่อปัญหาด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวคลองแล้ว ยังส่งผลกระทบอื่นๆ ให้กับอำเภอกระทุ่มแบนโดยรวม เช่น ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม การขาดโอกาสด้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ความสกปรกและน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อื่นๆและภาคส่วนอื่นๆ ทำให้กระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจขาดการเชื่อมโยงมายังชุมชน
ความน่าสนใจในเรื่องธุรกิจที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ลดลง การย้ายออกของคนในชุมชนมีมากขึ้น น้ำเน่าและมลพิษเหล่านี้ยังอาจถูกระบายไปสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำท่าจีนและแหล่งน้ำอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครกับจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุหลักคาดว่าอาจจะเกิดจากปัญหาการปล่อยน้ำเสียออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในย่านคลองกระทุ่มแบน นั่นเอง
ทั้งนี้ ปัญหาความเน่าเสียของน้ำในคลองกระทุ่มแบนและในเขตตำบลคลองมะเดื่อ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เร่งมาให้ความสนใจและยังล่าช้าในการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่เป็นข้อพิพาทหนักขึ้น ระหว่างภาคประชาชนกับผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนแห่งนี้