ผลิตไฮโดรเจนจากนํ้าเสีย อนาคตพลังงานสีเขียว

29 ต.ค. 2566 | 10:11 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 10:20 น.

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่จากสหรัฐ รายงานข่าวความคืบหน้าการวิจัยด้านพลังงานทางเลือก ที่ไม่เพียงช่วยให้โลกสามารถลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นคำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากนํ้าเสียหรือนํ้าทิ้งได้อย่างไรด้วย

ทั้งนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน (Oregon State University) ได้พัฒนากระบวนการนำนํ้าเสียมาผลิตไฮโดรเจนสีเขียว หรือ Green Hydrogen พร้อมกับกรองนํ้าให้สะอาดได้ในเวลาเดียวกัน

ไฮโดรเจนสีเขียว หรือ Green Hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ปราศจากก๊าซคาร์บอน เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ถูกใช้เป็นพลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อขับเคลื่อนยานพาหนะ ไปจนถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในครัวเรือนและธุรกิจต่าง ๆ

ปกติแล้วการผลิตไฮโดรเจนจะมาจากกระบวนการทางเคมีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดคาร์บอน ไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก แต่ในทางตรงกันข้าม ไฮโดรเจนสีเขียวนี้สามารถผลิตขึ้นมาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน อีกทั้งยังสามารถสกัดได้ ทั้งจากนํ้าจืดและนํ้าทะเล

ในเวลานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ได้พัฒนาระบบในการผลิตไฮโดรเจนจากนํ้าที่ปนเปื้อนสารกำจัดวัชพืช ซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่การเกษตร ระบบที่กำลังคิดค้นนี้ ยังช่วยกรองนํ้าปนเปื้อนให้สะอาดไปในเวลาเดียวกันด้วย

ผลิตไฮโดรเจนจากนํ้าเสีย อนาคตพลังงานสีเขียว

คิริคอส สไตลินู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษานี้กล่าวว่า นํ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่การบริโภคนํ้าที่ปนเปื้อนอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของคนเราได้

กลุ่มเกษตรกร คือตัวอย่างของผู้ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการกรองนํ้าให้บริสุทธิ์ และนำไฮโดรเจนที่ได้มาใช้กับอุปกรณ์การเกษตรในฟาร์มของพวกเขา

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อนำภาคพลังงานของประเทศไปสู่แนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

การผลิตไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ต่ออนาคตพลังงานที่สะอาดขึ้น เพราะหลายประเทศต่างให้ความสนใจการผลิตไฮโดรเจนในประเทศเพื่อใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกกันมากขึ้นด้วย

สุนิตา ศัตยาปาล ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง ในสังกัดกระทรวงพลังงานสหรัฐ ชี้ว่าเหตุผลหลักประการหนึ่งคือประเทศต่าง ๆ ตระหนักดีว่า ในการที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศได้นั้น จำเป็นต้องมีธาตุที่ปราศจากคาร์บอน อย่างเช่นไฮโดรเจน ซึ่งมีประโยชน์รอบด้าน และนั่นก็คือสิ่งที่ขับเคลื่อนความคิดริเริ่มด้านนวัตกรรมไฮโดรเจนในภาครัฐและเอกชนในฐานะแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับอนาคต