คนไทยป่วยไข้เลือดออกพุ่ง สัดส่วนเสียชีวิตสูงกว่า "ไข้หวัดใหญ่-โควิด 19"

10 มี.ค. 2567 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2567 | 06:53 น.

บอร์ดโรคติดต่อฯ เผย สถานการณ์ไข้เลือดออกพุ่ง คนไทยป่วยเสียชีวิตสัดส่วนสูงกว่า "ไข้หวัดใหญ่-โควิด19" กำกับ อสม. เดินหน้ามาตรการกำจัดยุงลาย สั่ง รพ. จ่ายยากันยุงแก่ผู้ป่วยอาการไม่มาก ชี้ช่วยประหยัดค่ารักษาได้ 219.09 ล้านบาทต่อปี

หลังจากที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบตามข้อเสนอของกรมควบคุมโรค กรณีมอบผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ทุกเขตสุขภาพดำเนินการให้ รพ.สังกัดจัดซื้อและจ่ายยากันยุง แก่ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาการไม่รุนแรง และต้องรักษาที่บ้าน ให้ทายากันยุงต่อเนื่อง 5 วัน ป้องกันยุงลายกัด เนื่องจากมีข้อมูลพบว่า ยุงลายสามารถกัดและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้นั้น 

ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ผ่านมา ได้รับทราบสถานการณ์โรคไข้เลือดออกโดยปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 17,783 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า มีผู้เสียชีวิต 25 ราย จาก 16 จังหวัด

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกทม. กำกับ อสม. ทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์พร้อมทั้งรายงานตามระบบอย่างเข้มข้นโดยเน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด มัสยิด โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ และโรงงาน พร้อมจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย  

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกยังระบาดอย่างต่อเนื่อง เดิมข้อมูลผู้ป่วยปี 2567 มากกว่าปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกันของเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.9 เท่า

ข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเพิ่มเป็น 2.1 -  2.2 เท่าแล้วและพบผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน ซึ่งอัตราการป่วยและเสียชีวิตอยู่ที่ 0.14 คนต่อ 100 คน ซึ่งสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด โดยไข้หวัดใหญ่อัตราป่วยและเสียชีวิตไม่เกิน 0.01-0.02 คนต่อ 100 คน ขณะที่โควิด ณ ปัจจุบันก็น้อยกว่าเช่นกัน อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 2 คน ประกอบกับแนวโน้มผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจและปอดบวมจากโควิดก็ลดลงเรื่อย ๆ

ปัจจุบันน่าห่วงสุด คือ โรคไข้เลือดออก จึงต้องออกมารณรงค์มาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเสริมอย่างการทากันยุง เนื่องจากต้องย้ำว่าข้อมูลขณะนี้พบว่า คนไข้ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกเมื่ออยู่ที่บ้านไม่ได้ทายากันยุงเมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อที่ยังมีอยู่ไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น

กลุ่มนี้มีอาการที่เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ เมื่อยุงมากัด จึงนำโรคแพร่เชื้อคนอื่นด้วย

ดังนั้น ในคนที่ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่มารักษาหากสามารถทากันยุงได้ 20% และคนใกล้เคียงในบ้านเดียวกันที่ไม่ติดเชื้อแต่ทายากันยุงด้วยอีก 10% จะช่วยลดผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 27% หรือจะเหลือคนป่วย 200,991 ราย จากทุกวันนี้มีผู้ป่วย 276,945 ราย โดยงบประมาณจัดซื้อยากันยุงจะอยู่ที่ 74.8 ล้านบาท ประหยัดค่ารักษาได้ทั้งปี 219.09 ล้านบาท