KEY
POINTS
หลังจากที่ "กัญชา" ถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อปี 2565 เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแพทย์แต่ขาด "หางเสือ" คอยควบคุมทิศทาง ยังไม่มีกฎหมายและข้อบังคับใด ๆ ที่จะมาใช้กำกับดูแล เกิดสุญญากาศในการนำกัญชามาใช้เพื่อสันทนาการอย่างกว้างขวางซึ่งสร้างผลกระทบต่อสังคมและกลุ่มเยาวชน
กระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขไปแก้ไขประกาศกระทรวงเกี่ยวกับ "กัญชา" โดยดึง "กัญชา" กลับไปเป็น "ยาเสพติดประเภท 5" และให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น พร้อมกำหนดไทม์ไลน์ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567
เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ทั้งจากฝั่งที่เห็นด้วยและที่เห็นต่างตามมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างได้ส่งผลกระทบกับแผนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีการลงทุนไปแล้ว รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้ขออนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชากัญชง ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนที่หันมาปลูกเพื่อไว้ใช้เองภายในครอบครัว
หลังรับนโยบายดังกล่าววันรุ่งขึ้น (9 พ.ค.2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจและแนวทางที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชน
ล่าสุดก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (9 ก.ค.2567) นายสมศักดิ์ ได้ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนในการนำ "กัญชา" กลับเป็นยาเสพติด ขณะที่นอกรั้ว ทำเนียบรัฐบาลมีกลุ่มเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยจำนวนหนึ่งชุมนุมคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดว่า
ต้องเอาเข้าคณะกรรมการ ป.ป.ส.ซึ่งต้องส่งเรื่องให้พิจารณาก่อนการประกาศสารหรือพืชชนิดใดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ประกาศได้เองซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจาก ป.ป.ส. ก่อน
หากเห็นว่า เป็น ยาเสพติด ต้องทำกฎหมายรอง กฎกระทรวงและประกาศอีก 4 ฉบับโดยต้องนำเข้า ครม. แต่การประกาศเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ไม่ต้องเข้า ครม.เพราะเรื่องยาเสพติดมีอันตรายและเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก กฎหมายจึงเขียนให้รัฐมนตรีกระทำโดยเร็ว
พร้อมกันนี้ได้เล่าย้อนความให้ฟังว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ถือเป็นกฎหมายหลัก ต้องมีกฎหมายลูกตามมาโดยต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปีแต่ถึงวันนี้เรายังออกกฎหมายรองไม่เสร็จเพราะการเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นกฎหมายไม่ผ่าน จบไม่ทันเวลาแต่สามารถต่อได้อีก 1 ปีโดยจะครบกำหนดในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 นี้ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายปี 2562
ดังนั้น เมื่อทำไม่ทันแล้วจึงต้องรีบออกประกาศมายับยั้งถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่า กัญชา ยังเป็นปัญหาจึงต้องใช้แนวทางในการออกประกาศว่า เป็น ยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อให้ทันเวลาในกรอบระยะเวลา 2 + 1 ปีตามเงื่อนไขกฎหมายเพราะหากจะออกเป็นกฎหมายก็ไม่สามารถทำทันเพราะการออกกฎหมายแต่ละฉบับใช้เวลา 2 ปี
"แก่นของปัญหา คือ ประชาชนที่บริโภคกัญชาเหล่านี้มีไอคิวลดลง คนส่วนใหญ่ยังกลัว กันอยู่ พร้อมยืนยันว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วจะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการและผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากคดีที่ครอบครองกัญชา เนื่องจากมีกฎหมายในการคุ้มครองผู้ประกอบการเพียงแค่ยื่นเจตจำนงไว้ก็ถือว่า มีใบอนุญาต"
ขณะที่นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ระบุว่า หากกัญชาถูกดึงกลับไปเป็นยาเสพติด จะเกิดปัญหาตามาโดยเฉพาะประชาชนที่ขออนุญาตปลูกนับล้านคนและร้านค้าที่ขออนุญาตจำหน่ายอีกกว่า 1 หมื่นใบอนุญาต
ทั้งนี้ จากข้อมูลของทีดีอาร์ไอ ซึ่งเผยแพร่บทความไว้ทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 เรื่อง กัญชาในมิติเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "แผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง" สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เรื่องกัญชา สกสว.และ วช.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1.ช่อดอก
2.อุปกรณ์เสพ
3.ต้นกัญชาที่ปลูกใช้บริโภคในครัวเรือน
4. ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทางเลือก
5.ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปภายใต้ อย. เช่น เครื่องปรุง อาหารสำเร็จรูป
6. กลุ่มอาหารที่ไม่มี อย. เช่น เยลลี่ บราวนี่ คุกกี้
โดยร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์กัญชากระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ เป็นต้น
ตอนหนึ่งได้วิเคราะห์มูลค่าเศรษฐกิจทางตรงของกัญชาเอาไว้ว่า กัญชานิยมนำไปใช้เพื่อการบริโภคส่วนของช่อดอกและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยประมาณการจากการนำปริมาณการปลูกที่มีการลงทะเบียน คำนวณออกมาเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์ตามราคาตลาด พบว่า หากนำกัญชาที่ลงทะเบียนปลูกในแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" เข้ามาขายในระบบตลาดเพียงร้อยละ 10 จะสร้างมูลค่าตลาดกัญชาได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ร้านค้านำมาวางขาย ได้แก่ Grinder, Pipe, Rolling paper, Bonk และขนมที่มีส่วนผสมกัญชาจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณ 500 ล้านบาท
ส่วนการวิเคราะห์มูลค่าเศรษฐกิจทางอ้อมนั้น พบว่า มีค่าใช้จ่ายในการปลูกกัญชาตั้งแต่การลงทุนโรงเรือน ระบบควบคุม ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าไฟฟ้า ปุ๋ยและดิน แบ่งเป็น
(1) ด้านการลงทุนเพื่อปลูกกัญชา ซึ่งการปลูกกัญชา 1 ต้น ต้องลงทุนรวม 2,000 บาท และ (2) ด้านรายจ่ายระหว่างการเพาะปลูก พบว่า ปลูกกัญชา 1 ต้นมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาท จากค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้อีก 3.5 พันล้านบาท
ส่วนในระยะยาวนั้นการปลูกกัญชาตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยจะช่วยสร้างเศรษฐกิจต้นน้ำหมุนเวียนต่อไปยังเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ ได้อีกเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หรือ 2.88 เท่าจากค่าใช้จ่ายในการปลูกกัญชา เกิดการจ้างงานในสาขาการผลิตต่าง ๆ ได้กว่า 8,300 คนและสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีก 303 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปลดล็อกกัญชาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จำนวนไม่น้อยแต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบเกิดขึ้นดังที่ในงานวิจัยทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาในส่วนผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่า มีผู้ใช้หรือลองใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเทียบกับผู้ที่ใช้กัญชาตามแพทย์สั่ง และการใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสพติดกัญชาและอาจกระตุ้นให้เกิดโรคจิตเภทโดยเฉพาะกับเยาวชนแล้วกัญชายังเป็น พืชที่ดูดโลหะหนักจากดินเข้ามาได้มากกว่าพืชทั่วไปมาก
ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีแนวทางเพื่อลดผลกระทบ และยังได้ประโยชน์สุทธิที่ดีที่สุด ซึ่งคำตอบนี้อยู่ที่การออกกฎหมาย และกฎระเบียบให้ชัดเจน