เปิดสถานการณ์ UCEP ร้องเรียนพุ่ง 2,000 ราย เสนอแก้ไขระบบฉุกเฉิน

15 ต.ค. 2567 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 08:08 น.

สภาองค์กรผู้บริโภค เผยยอดร้องเรียน UCEP 3 ปี พุ่งเกือบ 2,000 ราย ถูกเรียกเก็บเงิน ค่ารักษาแพงเกินจริง ด้าน สปสช. รับสายด่วน 1330 วันละ 80 ราย ผู้เชี่ยวชาญเสนอปรับปรุงระบบ เพิ่มการรับรู้สิทธิ ทบทวนอัตราจ่าย และบังคับใช้บทลงโทษ รพ.ที่ปฏิเสธสิทธิ

จากเวทีอภิปรายเรื่อง "ข้อเสนอเพื่อพัฒนาบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP)" โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์ร้องเรียนด้านสุขภาพผ่านองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านมาว่า จากข้อมูลระหว่างเดือน ต.ค. 2564 - ก.ย. 2567 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,662 กรณี เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จำนวนร้อยละ 68.33 ประกันสังคมร้อยละ 8.98 ข้าราชการ ร้อยละ 1.69 ชำระเงินเอง/ประกันสุขภาพเอกชน ร้อยละ 6.91 ไม่ระบุสิทธิร้อยละ 7.89 และเฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนสุขภาพ มีปัญหา 1,963 กรณี

ทั้งขอคำปรึกษา ตรวจสอบสถานะ ไม่ได้รับความสะดวกจากการรับบริการ ถูกเรียกเก็บเงิน ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ไม่ได้รับการส่งต่อ ฯลฯ รวมมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 21 ล้านบาท

เสนอแนะให้ปรับปรุงโครงการ UCEP ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.เสนอสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) พิจารณาให้สิทธิ UCEP ไม่ควรยึดเฉพาะผู้ป่วยสีแดงเพียงอย่างเดียวเพราะสีเหลือง สีส้ม หรือแม้แต่สีเขียวอาการก็ทรุดจนเป็นสีแดงได้

ขณะเดียวกันการวินิจฉัยควรยึดคนไข้หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหน้างาน และควรวินิจฉัยทุกรายและการวินิจฉัยว่าฉุกเฉิน ควรรวมเรื่องอุบัติเหตุเข้าไปด้วย เพราะผู้ป่วยจากอุบัติเหตุมักถูกนำส่งโดยรถฉุกเฉิน ไม่ได้เลือก รพ.เอง และส่วนหนึ่งก็ถูกนำส่งที่ รพ.เอกชนซึ่งมีค่ารักษาแพงมาก

2.เสนอกรมการค้าภายในกำกับราคาค่าบริการ รพ.เอกชน เพราะ UCEP ใช้อัตราจ่ายตามจริง สปสช. แต่พอถูกวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ฉุกเฉิน มักถูกเรียกเก็บเงินสดตามอัตราของ รพ. ดังนั้น เสนอให้เรียกเก็บในอัตราของ UCEP แม้จะถูกวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายอาการฉุกเฉินก็ตาม

3. เสนอกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำกับคุณภาพการให้บริการของ รพ.เอกชน เช่น ถ้าเข้าข่ายอาการฉุกเฉิน แต่ถูกเรียกเก็บเงินหรือปฏิเสธการรักษา สบส. ควรมีมาตรการตรวจสอบทุกราย และรายงานชื่อ รพ.ที่เรียกเก็บเงินในเว็บไซต์ของ สบส.

นายปรานต์อธิป ถังกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีข้อเสนอการปรับปรุงการดำเนินการ คือ 1. เสนอให้เพิ่มอัตราจ่ายกรณี UCEP ให้มากขึ้น เพราะเท่าที่ได้รับเสียงสะท้อนมา อัตราจ่ายของ UCEP อยู่ที่ 40-50% ของค่าใช้จ่ายจริง 2. แก้ไขระบบการส่งตัวหลังจากพ้นวิกฤต เพราะสิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการหา รพ.รับส่งต่อค่อนข้างยาก

นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. มักได้รับเสียงสะท้อนว่าต้องรีวิววิธีการประเมินอาการเพื่อบ่งชี้ว่า เป็นอาการฉุกเฉินที่กว้างขวางมากขึ้นเพื่อรักษาสิทธิของผู้ป่วย ต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ รวมถึงอยากให้เกณฑ์การประเมินมีความจำเพราะเจาะจงมากขึ้นเพื่อรักษาต้นทุนของโรงพยาบาลและเพื่อความยั่งยืนของโครงการ

นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในเชิงการจัดการคิดว่า ถ้าขยายเกณฑ์ประเมินเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบ UCEP มากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับประชาชนแน่นอน ขณะเดียวกันต้องทำให้โครงการดำเนินต่อได้ โดยมีอัตราจ่ายที่ รพ.เอกชนยอมรับ ซึ่งหากสร้างเกณฑ์ที่ทำให้เกิดความสมดุลได้ จะทำให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปได้

นางสาวฌิชาภัทร ขัตติวงค์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ประกันตนพบเมื่อไปรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคือถูกให้เซ็นยินยอมไม่ใช้สิทธิ UCEP หรือให้จ่ายเงินเอง ถ้าไม่เซ็นก็จะไม่ได้รับการรักษาขั้นถัดไป

ทั้งนี้ มีข้อเสนอปรับปรุงการดำเนินนโยบาย UCEP อยากให้เน้นการสร้างการรับรู้ทั้งสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการว่าแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร บทกำหนดโทษจะเป็นอย่างไร เพื่อให้สถานพยาบาลตระหนักว่า นโยบายนี้มีความจำเป็นและสามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

นางสาวฌิชาภัทร ขัตติวงค์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานประกันสังคม

ด้านนางสาวดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากสถิติของสายด่วน 1330 มีกรณี UCEP ประมาณ 80 รายต่อวัน โดยเมื่อ รพ.เอกชนทำการประเมินว่าอาการเจ็บป่วยเข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่ ถ้าเป็นสิทธิบัตรทอง ข้อมูลจะเชื่อมโยงมาที่ 1330 ซึ่งจะมีการตรวจสอบกับผู้ป่วยว่าสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้หรือไม่ และประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยต่อไป

ปัญหาการดำเนินงานที่พบ คือ หลัง 72 ชม. ไปแล้ว ต้องมีการหาเตียง ICU มารับช่วงดูแลผู้ป่วยต่อและมักมีเตียงไม่พอ สปสช. ใช้วิธีการเจรจาให้ผู้ป่วยนอนรักษาต่อที่ รพ. เดิมโดยจ่ายตามเกณฑ์ที่ UCEP กำหนด โดยร้อยละ 80 สามารถเจรจาได้ ส่วนอีกร้อยละ 20 จะส่งไปยัง รพ. ที่ผู้ป่วยลงทะเบียนสิทธิไว้ 

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยด้านกลไกการจ่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลบัญชีที่ รพ.เอกชนส่งให้กระทรวงพาณิชย์ พบว่า รพ.เอกชนมีกำไรปีละประมาณร้อยละ 15 ส่วนอัตราจ่ายชดเชยของ UCEP เป็นอัตราที่ Add-on จากอัตราจ่ายของกรมบัญชีกลางอีกร้อยละ 15 ดังนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ถ้าจะบอกว่า จ่ายชดเชย รพ.เอกชนน้อยไป

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นมายาคติหลายเรื่อง เช่น รพ.เอกชนมักบอกว่าต้นทุนค่ายาแพงกว่าที่ รพ.รัฐซื้อ แต่จากข้อมูลจากกรมการค้าภายใน พบว่า ราคายาที่เอกชนจัดซื้อไม่แตกต่างจากราคาที่ รพ.รัฐจัดซื้อแต่เวลาเรียกเก็บค่ายากับประชาชนก็มีช่องว่างขนาดใหญ่ที่เป็นโจทย์ให้กรมการค้าภายในว่า จะควบคุมราคายาที่เรียกเก็บจากประชาชนอย่างไร

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยด้านกลไกการจ่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

รวมถึงเรื่องค่าธรรมเนียมแพทย์ซึ่งกำหนดโดยแพทยสภา รพ.เอกชนมักบอกว่า เก็บมาแล้วจ่ายให้แพทย์โดยตรง ไม่มีกำไรจากส่วนนี้ แต่จากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี ค่าธรรมเนียมแพทย์กลับเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 50% ในทุกรายการ เป็นการผลักภาระแก่ประชาชนในที่สุด 

ผศ.ดร.อัญมณี ภักดีมวลชน ในฐานะญาติของผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บเงิน เปิดเผยถึงกรณีพี่ชายตนเองว่า ประมาณเดือน ก.พ. 2567 พี่ชายมีอาการอ่อนแรง สลึมสลือ น้ำลายฟูมปาก ถูกส่ง รพ.เอกชนแห่งหนึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันแบบเฉียบพลัน และต้องทำการลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกอย่างเร่งด่วน จึงขอแจ้งใช้สิทธิ UCEP เจ้าหน้าที่แจ้งว่า โรงพยาบาลนี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ UCEP

เนื่องจากตนเกรงว่า หากล่าช้าต่อไปอีกจะทำให้มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตสูงขึ้น จึงตกลงให้รักษาที่ รพ.นี้ โดยแฟนของตนเป็นผู้ลงนามในเอกสารยินยอมให้ทำการรักษาแต่มาทราบภายหลังว่า เป็นเอกสารปฏิเสธการใช้สิทธิ UCEP และถูกเรียกเก็บค่ารักษาประมาณ 300,000 บาท

เบิกจากบริษัทประกันได้ประมาณ 60,000 บาท และต้องจ่ายเองอีกประมาณ 250,000 บาท หากไม่จ่ายก็จะไม่ส่งตัวต่อไปยัง รพ.ตามสิทธิของพี่ชาย ตนจึงต้องยอมเซ็นรับสภาพหนี้ถึงจะย้าย รพ.ได้

ทั้งนี้ อยากให้ สปสช. ช่วยตรวจสอบว่าบริการ UCEP มีในทุก รพ.หรือไม่ และในกรณีของพี่ชายตนเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตและใช้สิทธิ UCEP ได้หรือไม่ หากว่าเข้าข่าย อยากให้ รพ.เบิกค่ารักษาในโครงการ UCEP และคืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วกลับคืนมา