วันนี้ ( 4 ธ.ค.65 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้กำชับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้ดูแลการใช้ประโยชน์จากการกัญชาให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ฉบับลงวันที่ 11 พ.ย. 65 และมีผลบังคับเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 65 ที่เน้นควบคุมช่อดอกกัญชา
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำชับดังกล่าว กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มีการติดตามการขายช่อดอกกัญชาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตามประกาศฯ นอกจากจะห้ามการขายช่อดอกกัญชาแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี นักเรียน นักศึกษา สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ตลอดจนห้ามขายผ่านตู้อัตโนมัติแล้ว ยังห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทด้วย
"กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มอนิเตอร์ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และพบว่าหลังมีประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่ห้าม แต่ยังมีการขายช่อดอกกัญชาในแพลตฟอร์มค้าออนไลน์อยู่ ตอนนี้กรมฯ ได้มีการทำหนังสือแจ้งไปยังแพลตฟอร์มบางแห่งแล้ว และทยอยตรวจสอบแพลตฟอร์มอื่นๆ หากพบจะดำเนินการลักษณะเดียวกัน ซึ่งหากเตือนแล้วไม่มีการปิดกั้นผู้ค้า ก็ต้องถือว่าแพลตฟอร์มเป็นผู้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข และผิดตามกฎหมายด้วย" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าในช่วงเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ให้ทุกหน่วยงานดูแลให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากกัญชา ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์หลายงานได้ยืนยันว่าสามารถดูแลสุขภาพ และให้การบำบัดผู้ป่วยหลายโรคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ล่าสุด กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ติดตามผลการการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักรักษายากในเด็ก ด้วยสารสกัดกัญชา CBD ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการติดตามศึกษาต่อเนื่องจากที่ได้ร่วมกับโดยสถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ศึกษาการใช้สารสกัดกัญชาในเด็กกลุ่มตัวอย่างที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% และสารสกัดกัญชานี้ก็ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 64 โดยหากการติดตามผลการรักษาทั่วประเทศได้ข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เชื่อถือได้แล้ว จะนำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1 ในปี 2567 ต่อไป
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้สารสกัดกัญชากับผู้ป่วยโรคระบบประสาทอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเกร็งและอาการปวดที่เกิดจากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ รวมถึงผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ในเบื้องต้นว่า หลังการใช้สารสกัดกัญชาแล้วผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน ส่วนผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิตก็พบว่าสามารถอาการทางจิตลดลง ซึ่งจะได้มีการขยายผลการศึกษาในวงกว้างต่อไป