แม้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ยังไม่แล้วเสร็จ และค้างเติ่งเมื่อต้องปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ในภาคธุรกิจกัญชง กัญชา ยังเดินหน้าพัฒนาออกสู่ตลาดต่อเนื่องแม้จะยังไม่เต็มที่เพราะต่างไม่มั่นใจในข้อกฎหมาย แม้ล่าสุด “พรรคภูมิใจไทย” จะประกาศเป็นนโยบายพรรคในการเลือกตั้ง 2566 โดยมุ่งผลักดันให้กฎหมายกัญชากลับมามีผลบังคับใช้ เพื่อให้ “กัญชาเสรี” กลับมาเดินหน้าต่อได้ แต่ในความเป็นจริง การเดินหน้าต่อยังต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ มากมาย
“ดร.ไพศาล การถาง” รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นกัญชาในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นผู้เล่นที่สำคัญที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตเองไม่ได้มองในเชิง Negative มากนักในการขับเคลื่อนกัญชาแต่มีแนวโน้ม Positive มาก กว่าเพราะนักการเมืองหลายคนมองว่ากัญชาจะต้องถูกบริหารจัดการ หรือกำกับดูแลให้อยู่ในครรลองที่ควรจะเป็น เช่นการใช้เพื่อการการแพทย์และดูแลสุขภาพ แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้คัดค้านหากจะขับเคลื่อนในมุมของการแพทย์และมีแนวคิดที่จะดำเนินการในทางการแพทย์เช่นเดียวกัน
แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ พรรค การเมืองที่มีฐานเสียงหลักเป็นชาวมุสลิม อาจต้องฟังเสียงและพยายามหาทางออกร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพจริง แต่ต้องไม่คุกคามหรือไม่ทำให้พี่น้องมุสลิมรู้สึกแปลกแยก หรือโดนกระทำ ซึ่งทางออกง่ายๆ การกำหนดพื้นที่เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่กัญชาไม่ได้ถูกกฎหมายทั้งประเทศ แต่มีเพียงบางรัฐที่ถูกกฎหมายและในบางรัฐมีเงื่อนไขพิเศษ หรือผิดกฎหมายหรือเป็นพื้นที่อนุญาตใช้ในการแพทย์เท่านั้น
เพราะฉะนั้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือพื้นที่กลุ่มมุสลิม พรรคการเมืองหรือผู้ที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคตอาจจะต้องมีการกำหนดโซนนิ่งให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ลักษณะการพิทักษ์ถ้ากัญชาหลุดรอดเข้าไปถือว่าผิดกฎหมายทันที
อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ “การทะลักเข้ามาของช่อดอกกัญชาจากต่างประเทศ” ซึ่งไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้เพราะยังไม่มีการตรวจสอบที่จริงจัง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลรักษาการต้องออกกฎกติกามาบังคับว่า ช่อดอกกัญชาที่ทะลักเข้ามาและอยู่ในสถานะผิดกฎหมายจะถูกกำกับดูแล จัดการควบคุมหรือป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์นี้ได้อย่างไร
โดย “ดร.ไพศาล” บอกว่า เพราะส่วนหนึ่งของการทะลักของกัญชานอกมาจากความที่เราไม่พร้อมทั้งกฎหมายและผู้ปลูก เมื่อเกิดการทะลักของกัญชานอกจำนวนมาก เกษตรกรจะตายก่อน เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้กัญชาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะต้องเริ่มจากการกำหนดมาตรการหรือทำข้อกฎหมายให้ ชัดเจนเพื่อควบคุมกัญชาจากต่างประเทศที่จะทะลักเข้ามาในประเทศก่อน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่คาดหวังว่าจะให้กัญชากลายเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนจะเป็นไปไม่ได้เลย และอนาคตมูลค่าช่อดอกจะแย่ จนนำไปสู่การค้าขายไม่ได้ด้วยซํ้า
“ถ้าต้องการให้ไทยเป็นพื้นที่ที่เป็นโอกาสในการก่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในเรื่องนี้จริงๆ เรื่องแรกเราจะต้องควบคุมเกี่ยวกับการนำเข้าหรือการทะลักเข้ามาของกัญชาต่างประเทศก่อน หลังจากนั้นสังคมจะเป็นตัวขับเคลื่อนต่อเองเพราะตอนนี้มีเกษตรกรหลายรายเริ่มปรับปรุงคุณภาพและสายพันธุ์ ซึ่งในที่สุดเราอาจจะมีกัญชาไทยที่ถูกปรับปรุงพันธุ์และมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดได้”
ส่วนมุมของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาปัจจุบัน ส่วนหนึ่งถูกพัฒนาในกลุ่มโรงพยาบาล ส่วนช่อดอกอยู่ภายใต้กติกาและมุ่งไปในแง่ของการใช้ประโยชน์ทางภูมิปัญญาไทยและการแพทย์แผนไทย แต่ในมุมเอกชนตอนนี้กฎหมายมีการปรับเปลี่ยน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแลนด์สเคปในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พอสมควร ดังนั้นแม้ว่าวันนี้เอกชนจะยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ แต่ไม่หวือหวาเหมือนช่วงก่อนเพราะผู้ประกอบการยังมีความกังวลทั้งเรื่อง กฎหมายและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นทำให้ภาวะการเติบโตของผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ ไม่มากนักและอยู่ในช่วงของการรอจังหวะ
“วันนี้ทางออกของการขับเคลื่อนเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงและจุดมุ่งเน้นเรื่องของสารสกัด CBD ซึ่งเอกชนสามารถดำเนินการได้แต่ตอนนี้เอกชนไม่มั่นใจในเรื่องของกฎหมาย เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหานี้รัฐจะต้องย่อยกฎหมายและกติกาให้เป็นคำพูดง่ายๆ อธิบายและเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการและสังคมเข้าใจว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้
ขณะที่การผลิตและใช้ในประเทศจะกลายเป็น Red ocean แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเป็นตัวชูโรงในมุมของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นจริงๆ จะต้องผลักดันการส่งออกเพราะวันนี้กัญชา-กัญชงเปรียบเสมือนลูกโป่งที่พร้อมจะแตก ถ้ารัฐบาลหรือพรรค การเมืองยังคงมองปัญหาเหล่านี้ไม่ออกอาจจะกลายเป็นประเด็นได้ในอนาคต การหาทางออกง่ายๆ คือ เราจะต้องเดินหน้าเรื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องหรือก้าวไปถึงการส่งออกช่อดอกที่มีคุณภาพ ด้วยซํ้า”