เป็นเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประเทศไทย ปลดล็อกให้ “กัญชา-กัญชง” ถูกกฎหมายและสามารถนำมาใช้เพื่อสันทนาการได้ จากวันที่รัฐบาลไฟเขียว ร้านกัญชาในไทยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมกัญชาในไทย รวมถึงกัญชาเพื่อการแพทย์สามารถเติบโตเฉิดฉายในตลาดโลก
แต่เหมือนดาบสองคม เมื่อกฎหมายประเทศไทยมีช่องโหว่ หลายฝ่ายกังวลถึงปัญหาว่า “กัญชา” จะมอมเมาเยาวชนที่อ่อนแอ สถานะ “กัญชาไทย” จึงยังคงเป็นภัยร้ายต่อสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของผู้ใช้ทางการแพทย์ สุขภาพและความงาม
“กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีการใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งใช้เป็นสมุนไพรทางการแพทย์ จากสาร CBD (Cannabidiol) ไม่มีฤทธิ์เมา มีสรรพคุณช่วยลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบและช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยเยียวยาผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด ไปจนถึงกลุ่มที่ใช้เพื่อเป็นสารเสพติดจากสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC:Tetrahydrocannabinol) มีฤทธิ์ทำให้เมาและมีผลต่อระบบประสาท
กัญชาในอดีตถูกมองว่าเป็น “ยาเสพติด” จึงมีการต่อสู้ในเรื่องกฎหมายมาอยู่หลายยุคหลายสมัย ปัจจุบัน “กัญชา” มีการควบคุมและการอนุญาตให้ใช้กัญชาแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาได้ถูกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่เสมอ
“อุรุกวัย” เป็นประเทศแรกของโลกที่มีการออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ในปี 2013 โดยใช้กฎหมาย Ley no.19.172 ซึ่งรัฐบาลต้องการควบคุมการผูกขาดกัญชา มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ และต้องการที่จะลดการเกิดอาชญากรรม โดยอนุญาตให้ปลูก 6 ต้น/ครัวเรือน เฉพาะในสายพันธุ์ที่รัฐบาลกำหนด แต่มีการจำกัดปริมาณสำหรับการครอบครองเพื่อเสพไม่เกิน 40 กรัม/คน/เดือน โดยผู้ที่ต้องการเสพกัญชาจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้เสพ
แต่ประชาชนส่วนมากมักเลือกจะไม่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เสพ เพราะมีความกังวลว่ารัฐบาลจะนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ ซึ่งผลการลงทะเบียนผู้เสพ หลังจากออกกฎหมายไป 4 ปี มีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้เสพเพียงแค่ 6,600 คน จากจำนวนผู้เสพกัญชาที่คาดว่าจะมีประมาณ 5 หมื่นคนทั่วประเทศ
ในช่วงแรกรัฐบาลอุรุกวัย ต้องการปลดล็อกกัญชาเสรีแบบค่อยไปเป็นค่อยไป มีการอนุญาตให้เฉพาะร้านขายยาสามารถจำหน่ายกัญชาได้เท่านั้น แต่กว่า 75% ผู้เสพกัญชาในอุรุกวัยก็ยังคงซื้อกัญชาในตลาดมืด เนื่องจากร้านที่ขายกัญชาถูกกฎหมายมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนเสพ และการขออนุญาตที่จะขายกัญชาแบบถูกกฎหมายใช้เวลานาน ซึ่งรัฐบาลอุรุกวัยจะเน้นสนับสนุนบริษัทที่นำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์มากกว่าเพื่อสันทนาการ
“แคนาดา” ได้รับการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในปี 2001 และในปี 2018 แคนาดาได้กลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่อนุญาตให้บริโภคกัญชาได้อย่างเสรีทั้งในเชิงการแพทย์และสันทนาการ
แคนาดามีการออกกฎหมายชื่อว่า “Cannabis Act” ประชาชนสามารถปลูก ครอบครอง และใช้กัญชาได้อย่างเสรี โดยกำหนดให้ปลูกได้ครัวเรือนละ 4 ต้น ซึ่งสามารถปลดล็อกให้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชา ที่ก่อนมีการเปิดเสรี มีจำนวนผู้ที่ครอบครองกัญชาถูกจับกุมกว่า 7 หมื่นคนต่อปี จนเกิดกระแสการเรียกร้องทางสังคม
โดยรัฐบาลแคนาดา ได้ออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมทั้งระบบ ซึ่งผู้ผลิตกัญชาในแคนาดาจะต้องขายให้รัฐเท่านั้น ส่วนรายย่อยก็ต้องซื้อจากรัฐเท่านั้น โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดการขายส่ง รวมถึงควบคุมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการตลาด รวมถึงต้องเสียภาษีกัญชา ซึ่งเงินที่ได้จากภาษีจะถูกนำไปใช้เพื่อดูแลผลกระทบจากการใช้กัญชาต่อไป โดยผู้ผลิตกัญชารายใหญ่ในแคนาดามองว่า ระเบียบข้อจำกัด รวมถึงภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้กัญชาถูกกฎหมายมีราคาแพงและมีต้นทุนสูงกว่ากัญชาในตลาดมืด เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของธุรกิจ
ในปี 2023 ยอดขายกัญชาเพื่อการสันทนาการของแคนาดา มีมูลค่า 5.07 พันล้านดอลลาร์แคนาดา (+12.2%) หรือกว่า 128,168 ล้านบาท
“สหรัฐอเมริกา” มีการปลดล็อกกัญชาเสรีเพียงบางรัฐเท่านั้น แบ่งเป็นปลดล็อกเพื่อใช้ทางการแพทย์ 39 รัฐเพื่อสันทนาการจำนวน 23 รัฐ
อุตสาหกรรมกัญชาสหรัฐฯ มีการเติบโตเฉลี่ยราว 24% ต่อปี ในปี 2023 มีมูลค่าตลาดกว่า 33,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ามูลค่าอุตสาหกรรมกัญชาสหรัฐอเมริกา จะมีมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท
โดยการปลดล็อกกัญชาในสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์คือต้องการลดความแออัดของเรือนจำลง เนื่องจากในช่วงปี 1970 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องการต่อต้านยาเสพติด ได้มีนโยบาย War on drugs ซึ่งกัญชาก็จัดอยู่ในประเภทยาเสพติดที่ร้ายแรง ทำให้ผู้ที่ครอบครองกัญชาเพียงเล็กน้อยก็ถูกดำเนินคดีรวมไปกับผู้ที่ครอบครองยาเสพติดร้ายแรงด้วย ส่งผลให้เรือนจำแออัด และสิ้นเปลืองภาษีในแต่ละปีของประเทศอย่างมหาศาล
ปัจจุบัน กฎหมายของรัฐบาลกลาง ก็ยังคงกำหนดให้กัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 1 ซึ่งหลายฝ่ายขอรัฐบาลให้ทบทวนถึงการปรับลดระดับความรุนแรงลง ซึ่งมีข้อเสนอใหม่คือ ให้กัญชาจะจัดเป็นสารเสพติดประเภทที่ 3 อยู่ในกลุ่มเดียวกับยาเค ที่จะช่วยลดอาการปวด ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย
ส่วนผลกระทบกัญชากับเยาวชนในสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่า ในปี 2017-2019 ในรัฐที่เปิดให้มีกัญชาเสรี มีสินค้าบางชนิดมีส่วนผสมของกัญชา ได้ออกขายสู่ท้องตลาด พบว่ามีเด็กเล็กที่อายุไม่ถึง 9 ปี บริโภคสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชา ส่งผลต่อร่างกายและต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลไปกว่า 4,100 ราย
ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ เปลี่ยนนโยบายจากการควบคุมยาเสพติด มาบูรณาการใช้การดำเนินงาน โดยเน้นที่การป้องกัน บำบัดและการปราบปรามยาเสพติด แต่ร้านขายกัญชาเถื่อนในสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ลดลง แม้หลังจะมีการเปิดเสรีในบางรัฐ เนื่องจากกัญชาถูกกฎหมายมีราคาแพงกว่ามาก
ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ปลดล็อกกัญชาออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 เมื่อปี 2022 ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทย ทำให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาใช้ประโยชน์ได้ในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ และเป็นโอกาสเสี่ยงให้เยาวชนเข้าถึงกัญชา เนื่องจากประเทศไทยยังคงต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน และพ.ร.บ.กัญชาอยู่ในภาวะสุญญากาศมาจนถึงปัจจุบัน เกิดเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย สร้างผลกระทบต่อสังคม
แม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์และเป็นโอกาสของธุรกิจ แต่การควบคุมกฎหมายกัญชาและการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงกัญชา เป็นประเด็นที่สำคัญ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง และควรบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและการจัดการที่รอบคอบก่อนที่ผลกระทบของกัญชาจะกลายเป็นปัญหาทางสังคมที่สายเกินแก้
อ้างอิง
พิพัฒน์ นนทนาธรณ์. (2564). เศรษฐกิจกัญชา: ที่มาและที่ไป. วารสารสมาคมนักวิจัย ปีที่ 26 ฉบับ 2 เม.ย.-มิ.ย.2564
วีรยา ถาอุปชิต,นุศราพร เกษสมบูรณ์. (2564). นโยบายกัญชา: การวิเคราะห์เปรียบเทียบไทย สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน และอิสราเอล. วารสารเภสัชกรรมไทยปีที่ 13 เล่มที่ 1 ม.ค.-มี.ค.2564
นารา หนูแดง. (ม.ป.ป.). แนวทางการพัฒนานโยบายส่งเสริมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย.วารสารรัฐศาสตร์พิจาร ปีที่ 7 ฉบับที่ 1
พลัฐวัษ วงษ์พิริยชัย. (2565). มาตรการทางกฎหมายในการปลูกและการใช้กัญชา: กรณีประเทศอุรุกวัย. วารสารกฎหมายและสังคมรังสิต ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พ.ค.-ส.ค. 2565. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา. (2566). สำนักงานการแข่งขันทางการค้าแคนาดา ขอผ่อนปรนระเบียบจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในประเทศ. สืบค้น www.ditp.go.th/post/138484
จิกิตสา วิทยา. (2565). เปิดประสบการณ์สหรัฐอเมริกา กัญชาเสรีทำให้เกิดอะไรขึ้น?. สืบค้น www.hfocus.org/content/2022/06/25351