กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการเรื่อง “กัญชา” โดยออกเป็น พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา แทนการดึงกัญชา กลับไปขึ้นเป็นบัญชียาเสพติดประเภท 5 นั้น มีทั้งกลุ่มที่ให้การสนับสนุนและคัดค้านจำนวนมาก
ล่าสุดเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงชื่อสนับสนุนการนำ “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยรวบรวมรายชื่อเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด พร้อมข้อเสนอใหม่
โดยระบุว่า เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ขอเสนอนโยบายใหม่ เป็นนโยบายทางสายกลาง คือ “เริ่มทำกฎหมายกัญชาโดยเร็วทันที หลังนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดติด” พร้อมเหตุผล ดังนี้
1. เพื่อหยุดยั้ง “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ทันที แต่สามารถใช้ “กัญชาเพื่อการแพทย์” ได้ ขณะกำลังเร่งทำกฎหมายกัญชา
2. เพื่อการลดความขัดแย้งอย่างแท้จริง คือ ไม่ขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทยเพราะมีนโยบายให้ทำกฎหมายกัญชา และไม่ขัดแย้งกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ เพราะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที
3. เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ว่าผู้บริหารสูงสุดของประเทศมอบนโยบายกัญชาที่มีลักษณะตรงกันข้ามภายในเวลาเพียงสองเดือน
4. เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ว่านายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะไม่ขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทย โดยเลือกนโยบายที่จะขัดแย้งกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศแทน
5. เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ว่านายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยผูกติดกับผลกระทบด้านลบของการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดในสังคมแล้วในขณะนี้และจะมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เช่นเดียวกันกับภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองอื่นก่อนหน้านี้
เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ขอเสนอให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการเห็นสังคมและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกัญชาเพื่อสันทนาการในประเทศไทย ร่วมติดตาม รู้เท่าทัน และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายกัญชาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม มากกว่าประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล และทำทุกวิถีทางทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะไม่ให้เกิดสภาพการตัดสินใจนโยบายกัญชาในลักษณะเช่นนี้
นอกจากนี้ยังระบุว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยต้องทำเพื่อประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ออกเป็น พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพื่อยุติความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่นำกลับไปขึ้นบัญชียาเสพติดแล้ว
นโยบายครั้งแรก (เดือน พฤษภาคม) คือ การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที เพื่อให้ใช้กัญชาเฉพาะประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ไม่ให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ โดยไม่ได้มีนโยบายให้ทำกฎหมายกัญชา ส่วนนโยบายครั้งที่สอง (เดือนกรกฎาคม) คือ การคงให้สามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ (เนื่องจากกัญชาไม่เป็นยาเสพติด) ในขณะที่รอทำกฎหมายกัญชา
นโยบายสองครั้งนี้จึงมีลักษณะตรงกันข้ามทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากนโยบายแรกนั้น พรรคเพื่อไทยทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ที่เห็นว่าควรนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่ขัดกับนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่มีนโยบายปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ส่วนนโยบายครั้งที่สองจะสอดคล้องกับความต้องการของพรรคภูมิใจไทย แต่ขัดกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
สำหรับความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ร่วมลงชื่อสนับสนุนจำนวน 59 ราย ประกอบไปด้วย
3. ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. พล.ต.นพ.พิชัย แสงชาญชัย ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย
5. รศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย
6. รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อายุรแพทย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
8. นายไฟซ้อน บุญรอด ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด
9. นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ