ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ต.ค.2565 ได้เห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,116 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2566 – 2570) เพื่อดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่จังหวัดอันดามัน รวมทั้งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล
โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม2562 และได้มีการบรรจุโครงการในแผนยุทธศาสตร์ฯ 2561-2565 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และถือเป็นหนึ่งในจุดเน้นตามหลักการ PSU System ซึ่งมีวิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) เป็นผู้ดำเนินการ
รศ. ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ประกอบด้วย 5 ภารกิจหลัก ได้แก่
1. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ภูเก็ต ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพในโรคที่มีความซับซ้อน ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลระดับสูงในพื้นที่ เน้นการบริการ Tertiary Care การแพทย์แม่นยำ การแพทย์การไกล การบริการนักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับ Premium การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างภูเก็ต-หาดใหญ่ จำนวน 300 เตียงโดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการปีละ 3 แสนคนต่อปี
2. โรงพยาบาลทันตกรรมสงขลานครินทร์ ภูเก็ต ตั้งอยู่บริเวณสะพานหิน เน้นการบริการทันตกรรมครบวงจร และเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
3. โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตภูเก็ต เน้นการดูแลผู้สูงอายุ การใช้กีฬาบำบัด
4. วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ เพื่อผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และแพทย์แผนไทย และฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทักษะ รวมถึงฝึกอบรมผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
5. ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เน้นการบริการด้านการตรวจสุขภาพทั่วไป / ตรวจสุขภาพประจำปี
รศ. ดร.พันธ์ กล่าวอีกว่า ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 โดยได้เปิดรับนักศึกษาแพทย์ 1 รุ่นนักศึกษาพยาบาล 3 รุ่น และจะรับนักศึกษาแพทย์แผนไทย และเทคนิคการแพทย์ในปี 2566 ในส่วนของโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลทันตกรรม จะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ภูเก็ต จำนวน 300 เตียง คาดว่าในปี 2569 จะเริ่มให้บริการ