สถานการณ์โรคไข้เลือดออกและโรคมาลาเรียของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจากข้อมูลกรมควบคุมโรค พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย
จากรายงานในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2564 ถึง 4.5 เท่า อีกทั้งมีรายงานการเสียชีวิตยืนยันถึง 31 ราย ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์ในปี 2565 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566
จากแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและมาลาเรียที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำวิธีการป้องกันตนเองเบื้องต้นให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าวไว้ โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องระมัดระวังไม่ให้โดนยุงกัด
หนึ่งในวิธีการป้องกันอย่างง่าย ๆ คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ซึ่งมีทั้งรูปแบบการทาหรือฉีดพ่นผิวหนัง ออกฤทธิ์โดยการไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของยุง จึงสามารถใช้ในการไล่ยุงแต่ไม่สามารถฆ่ายุงได้
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการไล่ยุงนั้น จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อย.
1.ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีสารดีอีอีที (DEET), เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate), อิคาริดิน (Icaridin) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.
2.ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอม เป็นสารออกฤทธิ์ในการไล่ยุง ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนแต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ อย.
วิธีการเลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงอย่างถูกต้อง
คำแนะนำ
ก่อนใช้ ควรทดสอบการแพ้ โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับแขน อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล