THG ปั้น “Telehealth”เสิร์ฟบริการ Telemedicine กลุ่ม B2B

21 ก.พ. 2566 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 13:18 น.

THG เดินหน้าปั้น “Telehealth” ชูนวัตกรรมบริการ Telemedicine กลุ่ม B2B ทั้งองค์กรขนาดใหญ่เพื่อเป็นสวัสดิการพนักงาน บริษัทประกัน รวมถึงเชื่อมระบบทางไกลในรูปแบบ Doctor to Doctor พร้อมต่อยอดให้บริการผู้ป่วยทั่วประเทศ

Krungthai Compass ประเมินอุตสาหกรรมการแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนปี 2566 คาดจะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องที่ 19.8%YoY จากแรงหนุนการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และสนับสนุน Medical Tourism Trend จากกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติทั้งอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรม Health Tech จะเข้ามามีบทบาทที่เด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะ Telemedicine ที่ในระยะถัดไปอาจจะถูกนำมาให้บริการในรูปแบบ Telehealth Kiosks ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ โดยหน่วยงานรัฐ หรือความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกลุ่ม Health Tech กับค่ายมือถือ คลินิกเวชกรรม ร้านขายยา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น และอาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลที่น่าจับตามอง แม้ว่าจะยังไม่สามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า Health Tech เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงมานาน ในระยะเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้หลายคนเชื่อว่า Telemedicine จะเข้ามาลดความแออัดของโรงพยาบาลซึ่งตรงนี้ เป็นความจริงในภาคของประชาชนที่รัฐบาลจ่ายค่ารักษาให้ แต่ในส่วนของ Public health คนไข้เจ็บป่วยน้อยบางส่วนเริ่มใช้ Telemedicine แทนการเข้ามาพบหมอในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันนี้โรงพยาบาลและร้านขายยาต่างๆก็เริ่มให้บริการแล้ว

แต่ในส่วนของ Telehealth ในกลุ่ม private healthcare จะอยู่ขั้วตรงข้ามกัน เพราะเรื่องของการรักษาสุขภาพ After ต้องดีกว่า Before การพูดคุยสอบถามผ่าน Telemedicine ดีในบางโรค ส่วนบางโรคต้องมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่ม ทำให้คุณภาพการมาโรงพยาบาลจะดีขึ้น เพราะคนไข้รู้ว่าต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อไปพบแพทย์ท่านใด เมื่อไร เตรียมตัวอย่างไรทำให้การมาโรงพยาบาลจะไม่สะเปะสะปะเหมือนอดีต วิธีนี้เป็นการเพิ่ม Health literacy โดยไม่รู้ตัว

“นอกจากนี้ Telemedicine ยังมีประโยชน์ต่อการส่งต่อเคสในเครือโรงพยาบาลเดียวกัน สามารถคัดกรองโรคที่จำเป็นต้องเดินทางมารักษา แพทย์แต่ละโรงพยาบาลสามารถแชร์ Know How ร่วมกันตามความเชี่ยวชาญของแต่ละโรคในการรับเคสไปรักษา เพราะฉะนั้น Telemedicine ไม่ได้ทำให้คนไข้โรงพยาบาลน้อยลงตรงกันข้ามอาจทำให้โรงพยาบาลมีคนไข้มากขึ้น เราไม่เคยคิดว่า Telemedicine จะเข้ามาเป็นคู่แข่งโรงพยาบาลเลย”

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

สำหรับ THG ปัจจุบันเพิ่งมีการจัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัท ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการรักษาได้สะดวก รวดเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกค้า โดยในระยะเริ่มต้นจะมุ่งทำตลาดกับกลุ่มลูกค้า B2B หรือองค์กรต่างๆที่ต้องการให้ Telehealth เข้าไปเป็นผู้ให้บริการสุขภาพกับพนักงานในองค์กรก่อนเพราะจะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วกว่า B2C

“Telemedicine มีมานาน 4-5 ปี สิ่งที่เห็นคือในฝั่งของ B2C ส่วนใหญ่มักจะไปไม่ค่อยรอด ในกรณีที่คนไข้จ่ายเองจะไม่ขยายตัวมากนัก เพราะฉะนั้นกลุ่มที่เป็น B2B น่าจะมีโอกาสมากกว่า B2C เพราะมีบริษัทประกันให้ความสนใจในการช่วยกลุ่มลูกค้าของตัวเอง หรือ corporateใหญ่ๆที่ต้องการ ให้พนักงานเข้าถึงหมอ เข้าถึงบริการการแพทย์ง่ายขึ้น ไม่ต้องลางานไปโรงพยาบาล Telemedicine

ในส่วนของ B2B น่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า และน่าจะเป็นโอกาสที่ธุรกิจใหญ่ๆจะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์หรือมาเป็นผู้ซื้อบริการเพราะทุกบริษัทจะต้องมีสวัสดิการทางด้านการแพทย์ให้กับพนักงาน ในส่วนของการยาจะกระจายจากโรงพยาบาลของเราทั้งหมดเพื่อควบคุมคุณภาพ และจัดส่งยาผ่านขนส่งเอกชน เบื้องต้นจะให้บริการในรูปแบบแพลตฟอร์มหลังบ้านก่อนและในอนาคตจะพัฒนาเป็น application ให้คนไข้ Home service สามารถเข้าถึงได้”

นอกจากนี้ THG ยังมีการใช้ Telemedicine ภายในองค์กรในรูปแบบของ Doctor to Doctor โดยเชื่อมระบบแพทย์ทางไกล กลุ่มโรงพยาบาลในเครือ 10 แห่ง เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในกรุงเทพฯสามารถคอนเซาท์กับแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มโรงพยาบาลที่อยู่ในภูมิภาคที่จะได้รับคำปรึกษาระหว่างแพทย์กับแพทย์และเห็นข้อมูลซึ่งกันและกันในการช่วยดูแลคนไข้ ในระยะแรกเริ่มดำเนินการในสายภาคใต้ เช่น ชุมพร ก่อนจะขยายไปทุ่งสง ตรังและหาดใหญ่ รวมไปถึงโรงพยาบาลในเมียนมาด้วย

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

รวมถึงยังมีการทดลองระบบ Smartward ที่จะเป็นการใช้ Telemedicine ระหว่างแพทย์เจ้าของไข้จาก รพ.ต้นทาง คือ รพ.ธนบุรี 2 กับคนไข้ที่ถูกส่งต่อไปยัง รพ.ธนบุรี 1 พร้อมทีมแพทย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าให้คำปรึกษาในการดูแลรักษาได้ด้วยระบบสื่อสาร 2 ทางแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ THG ยังมีความร่วมมือด้าน Telehealth กับ start up ต่างชาติ ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ต่อยอดพัฒนาจากบริการ Home Healthcare ที่ให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้าน ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ มากว่า 6-7 ปี โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจองออนไลน์ matching ตารางงาน ตารางรูทและประวัติยาประวัติการรักษาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนลงระบบและจะทำให้ THG สามารถขยายบริการในส่วนของรีซอร์สได้ใหญ่ขึ้นในเฟสต่อไปจะเพิ่มเติมในส่วนของ monitoring เรื่องของ Health tracking ต่างๆรวมถึง work place ที่ครอบคลุมเพิ่มเติม

“Telemedicine ในประเทศไทยคงไม่ได้เกิดขึ้นข้ามวันข้ามคืนแต่จะเป็น landing curve ทั้ง 2 ขาทั้งแพทย์และคนไข้ หมอจะเริ่มมีความคุ้นเคยในระบบมากขึ้นส่วนคนไข้จะรู้จักการใช้ระบบที่ถูกต้อง และเหมาะสม โดยตลาด B2C ที่คนไข้จ่ายเงินเอง Telemedicine จะเกิดก่อนเพราะเป็นตลาดที่ Low value base

ส่วนตลาดที่มีมูลค่าและเติบโตสูงคือ ตลาดการรักษาพรีเมียมที่ Third party เป็นผู้จ่ายค่ารักษา ทั้ง corporate ขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการกับพนักงานของตัวเอง หรือผู้ประกันกลุ่มที่ต้องการเพิ่ม option choice ในการบริการ ซึ่งเราจับกลุ่มตลาดนี้ ส่วนเคสที่จำเป็นจะต้องรักษาก็จะต้องเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ตลาดนี้จึงเป็นเรียลดีมานด์” นายแพทย์ธนาธิป กล่าวในตอนท้าย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566