เปิดผลวิจัยพบ "อบซาวน่า" ลดเสี่ยงสมองเสื่อม เพราะอะไร อ่านที่นี่

22 มี.ค. 2566 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 04:13 น.

เปิดผลวิจัยพบ "อบซาวน่า" ลดเสี่ยงสมองเสื่อม เพราะอะไร อ่านที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์เผยรายงานของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ความร้อนที่สูงกว่า 37 องศาเซลเซียส กลับมีประโยชน์ แนะศึกษาให้ดีก่อนปฏิบัติ

อบซาวน่า ช่วยให้ผ่อนคาย แต่ที่สำคัญคือยังช่วยทำให้สมองใสได้ด้วย จริงเท็จแค่ไหน "ฐานเศรษฐกิจ" มีคำตอบให้ 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)ระบุว่า 

อบร้อนซาวน่า สมองใส

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้มีการออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องซาวน่า อบร้อน ออนเซ็น

แต่เรื่องที่เขียนเป็นรายงานจากคณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (รายงานในวารสารเนเจอร์ ปี 2022) ซึ่งได้ทำการศึกษา ผลของความร้อนที่สูงกว่าปกติที่มนุษย์มีกัน คือ สูงกว่า 37 องศาเซลเซียส กลับมีประโยชน์ช่วยคลี่โปรตีนที่ทำท่าจะบิดเกลียวและรวมถึงที่บิดผิดปกติไปแล้ว จนกลายเป็นขยุ้มและจะเกิดผลร้ายต่อเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสมองเสื่อม

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้กล่าวโยงไปถึงการศึกษาหลายชิ้นที่มีมาก่อนของผู้คนในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีการสังเกตว่า คนที่ใช้ซาวน่าเป็นประจำ ซาวน่าช่วยทำให้ความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมลดลง

ในงานวิจัยได้ระบุไว้ว่า ปกติแล้วในเซลล์ของมนุษย์ที่จะคงอยู่ได้ ไม่ตาย หรือ ตายช้าและยังทำงานได้อย่างสดใสสมบูรณ์ เนื่องจากมีกลไกในการปรับสภาพ เมื่อเผชิญกับความเครียดหรืออันตราย และแม้แต่การที่มีการบุกรุกล้ำ โดยเชื้อโรค ทั้งนี้ในเซลล์จะมีห้องฉุกเฉิน (กล่าวอุปมา) หรือ ER 

ตามงานวิจัยอธิบายไว้ว่า ห้องฉุกเฉินคือส่วนที่เป็น Endoplasmic reticulum และเมื่อรับสัญญาณอันตราย ก็จะส่งต่อไปยังโรงพลังงาน ไมโตคอนเดรีย (Mitochon dria) ซึ่งอยู่ในเซลล์เช่นกัน 

โดยต่อมา ทำให้มีการปรับสภาพให้พอเหมาะ รวมทั้งในการทำให้มีขนาดที่เหมาะสม (fission และ fusion) ในการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปจนกระทั่งถึงการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะจำศีลเมื่อคับขัน ใช้พลังงานประหยัดมัธยัสถ์ และรีไซเคิลขยะ 

ตลอดจนส่งสัญญาณในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อที่รุกล้ำ (autophagy และ immune signaling) และส่งสัญญาณในการปรับสภาพอินซูลินในสมอง ที่ป้องกันความเสื่อมของสมอง 

และที่ขาดไม่ได้คือระบบ UPR sig naling หรือกลไก unfolded protein response ที่ตอบสนองต่อโปรตีนที่สร้างขึ้นมาและผิดปกติ

ตามรายงานยังบอกไว้ด้วยว่า ในสภาวะปกติ และเมื่อเผชิญอันตรายและความเครียดทั้งหลาย โปรตีนที่สร้างในเซลล์นั้นจะมีการพับ ซึ่งก็เป็นกลไกตามธรรมชาติ โดยต้องมีการดูแล ไม่ให้มีโปรตีนที่บิดเกลียวผิดปกติ (mis folded protein) 

และขัดขวางการทำงานของเซลล์ โดยมีการจับกลุ่มก้อน (aggregates) ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ ดังนั้นจะต้องถูกขจัดทำลายไปให้หมดจนถึงศูนย์ได้ยิ่งดีใหญ่ (Zero aggregation)

หรือพยายามที่จะแก้เกลียวให้กลับคืนเป็นโปรตีนที่ดี โดยขณะนั้น มีการปรับลดการสร้างโปรตีนไปชั่วคราว พร้อมกับมีการกระตุ้นตัวช่วย เช่น โปรตีนพี่เลี้ยง (chaperones) และโดยที่ในที่สุดต้องมีการควบคุมคุณภาพของโปรตีนที่สร้างขึ้น

งานวิจัยดังกล่าว ยังมีการค้นพบพี่เลี้ยงที่สำคัญตัวหนึ่ง คือ cyto solic Hsp 70 หรือ heat shock protein 70 โดยมีหน้าที่ช่วยแก้ไข เสริมเติม กลไกควบคุมคุณภาพของโปรตีน แต่ทั้งนี้ในเวลาที่ผ่านมานั้นยังไม่ชัดเจนว่าตัวพี่เลี้ยงนี้ หรือมีตัวอื่นใด เข้าไปทำงานประกบกันที่ ER ด้วยหรือไม่ และผลของการศึกษาต่อมา พบว่ามี Hsp ที่เรียกว่า BiP ใน ER ที่ทำหน้าที่นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของรายงานนี้ อยู่ที่การเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าเมื่อเผชิญกับความเครียด ซึ่งในที่นี้ก็คือ การให้เซลล์ถูกความร้อน แต่ผลที่ได้นั้น แทนที่จะเกิดโปรตีนบิดเกลียวจนกลับเป็นกลุ่มก้อน โดยกลไกต่อสู้ตามธรรมชาติสู้ไม่ไหว เอาไม่อยู่ กลับพบว่าสู้ได้สบายมาก

ไม่ใช่เป็นการทำลายโปรตีนผิดรูปดังกล่าว อย่างตรงไปตรงมา หรือขจัดทิ้งออกไปจากเซลล์ แต่กลับคลี่ เกลียว ของขยุ้มโปรตีน (disaggre gation) และกลับทำให้เกิดมีการม้วนแบบปกติขึ้น และทำให้กระบวนการสมดุลของระบบโปรตีน (prote ostasis) มีความเสถียรขึ้นไปอีก โดยโปรตีน BiP

การศึกษานี้ออกแบบโดยสามารถมองเห็นภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเซลล์ที่มีชีวิตได้จริงๆ ในแต่ละเสี้ยวเวลาในสเกลเป็นนาโนของวินาที

ทำให้พอจะเห็นหรือนึกภาพออกได้แล้วว่าการอบร้อนซาวน่าที่ทำให้รู้สึกสบายตัว สมองโล่งแท้จริงแล้ว เริ่มสามารถพิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์ทางสมอง

ซาวน่า คือ การอบตัวด้วยอุณหภูมิประมาณ 65 ถึง 90 หรือสูงถึง 100 องศาเซลเซียส โดยแหล่งกำเนิดความร้อนมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการเผาท่อนไม้ ใช้เครื่องทำความร้อนด้วยวิธีต่างๆ

แต่คนที่ไปทำซาวน่าไม่ได้ตัวสุก ผิวหนังลวก เป็นตุ่มพุพองนั้น เกิดจากการที่ในห้องซาวน่าจะมีความชื้นเต็มเปี่ยม จนกระทั่งถึง 100% ดังนั้น อุณหภูมิที่สัมผัสจะกลายเป็นระดับอยู่ที่มนุษย์เรารับได้ประมาณ 50 องศา

ทั้งนี้ มีการอธิบายด้วยว่า การอบซาวน่าเข้าใจว่ามีที่มาแถบสแกนดิเนเวีย เช่น ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน แต่เป็นที่แพร่หลายทั่วโลกไม่ใช่แต่ในยุโรป แต่ทั้งในเอเชีย ในประเทศจีน ญี่ปุ่น

นัยว่า ประเทศไทยเองนั้น ในสมัยก่อน สำหรับสตรีที่คลอดลูกใหม่ๆ มีการเข้ากระโจมร้อน อบสมุนไพร ถือเป็นประเพณีที่ต้องทำติดต่อกันมา แต่ดูว่า ไม่ค่อยมีใครทำแล้วในปัจจุบัน 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า จากหลักฐานที่พบ คงเป็นเครื่องแสดงว่าที่คนสมัย ปู่ ย่า ตา ทวด ทำมานั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะขณะที่สตรีคลอดไปแล้ว จะเผชิญกับความเครียดมหาศาล และร่างกายต้องการซ่อมแซม ดังนั้น อาจจะเป็นวิธีอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้ฟื้นกลับตัวเร็วขึ้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจไว้ว่า คงต้องศึกษาการอบซาวน่าให้ดีก่อนปฏิบัติด้วย เพราะจะเป็นการเสียเหงื่อ น้ำ และเกลือแร่ ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นควรต้องมีการประเมินสภาวะทางหัวใจและหลอดเลือด ยาที่รับประทานเป็นประจำ เพื่อหาซาวน่าที่เหมาะสม ทั้งในด้านอุณหภูมิระยะเวลาที่เข้า และจะทำถี่ บ่อยเพียงใด เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันได้ความสดชื่นและสมองสดใสด้วย