สมองเสื่อมเป็นอาการผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อเป็นแล้วรักษาได้หรือไม่ และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
สมองเสื่อมอยู่แล้ว ออกกำลังเป็นบ้าเป็นหลัง เสื่อมหนักขึ้น
ออกกำลังกายนั้นดี แต่ทุกอย่างเมื่อไม่อยู่สายกลาง ย่อมไม่ดี
ข้อมูลหลัก ๆ จาก Exercise for cognitive brain health in aging ลงใน วารสารทางสมอง Neurology 2018 ซึ่งได้เอาการวิจัย 98 อันเกี่ยวกับการออกกำลังกายมา
วิเคราะห์ (systematic review) ซึ่งบอกว่าดีต่อสมองและช่วยลดสมองเสื่อม
แต่ DAPA trial ลงใน วารสารการแพทย์ของอังกฤษ BMJ 2018 เอาคนที่เป็นสมองเสื่อมแล้วมาออกกำลังกายพบว่าออกเยอะไปสมองจะแย่
แล้วเท่าไหร่ดีละ?
การออกกำลังกายช่วยลดโอกาส "สมองเสื่อม" ได้ และออกแบบไหน?
หมอธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า จากการศึกษาใน Neurology 2018 พบว่าในทั้งคนวัยกลางหรือสูงวัยที่ทั้งมีโรคสมองเสื่อมอ่อนๆ หรือที่สมองยังแข็งแรงดีอยู่ พบว่ายิ่งออกกำลังกายเยอะก็ยิ่งทำให้ สมองดี สมองดีที่ว่าหมายถึง คิดเร็วขึ้น การตัดสินใจเฉียบขาดขึ้น และจะออกแบบไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นปั่นจักรยาน วิ่ง ยกน้ำหนัก โยคะ พิลาติส ก็ตาม ขอให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละสองชั่วโมง
อันนี้ก็คงเพราะว่าถ้าออกกำลังกาย สุขภาพหัวใจ และเส้นเลือดเราก็จะดีขึ้น นั่นก็แปลว่าสมองจะได้รับสารอาหารเพียงพอ นอกจากนั้นก็เป็นไปได้ว่าการที่เลือดสูบฉีดดีจะทำให้สารพิษหรือโปรตีนผิดปรกติถูกล้างออกไปได้เร็วขึ้น
นอกจากนั้นสารเคมีที่หลั่งออกมาตอนออกกำลังกายอาจจะมีส่วนช่วยปรับสมดุลในสมองอีกด้วย อันนี้กลับไปลองดูเพิ่มเติมในหมอดื้อตอน “สมองเหี่ยวหด ถ้ายังอ้วน”
แต่ออกกำลังกายกี่ชั่วโมง และรุนแรงแค่ไหน ถึงเรียกว่ามากเกินไป ในอีกการศึกษา Dementia and physical activity (DAPA) trial จากอังกฤษเป็นการศึกษาโดยแบ่งคนไข้สูงอายุที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อมขั้นน้อยถึงปานกลางออกเป็นสองกลุ่ม (Randomised controlled trial) กลุ่มแรกให้ออกกำลังกายโดยแอโรบิคและยกน้ำหนัก 150 นาทีในหนึ่งอาทิตย์ เป็นเวลาต่อเนื่องสี่เดือนและให้ทำต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนอีกกลุ่มดูแล ตามเดิม ออกกำลังตามสังขาร ไม่ถึงเป็น aerobic
ผลกลับผิดคาด
เพราะหลังจาก 12 เดือน การทำงานของสมองในกลุ่มออกกำลังกาย หนัก aerobic กลับแย่ลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้ออกกำลังกาย รุนแรง
หมอธีระวัฒน์ ระบุอีกด้วยว่า การศึกษาเก่า อาจจะไม่ได้ให้ออกกำลังกายแบบหนักหน่วง
นี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มคนที่เป็นสมองเสื่อมไปแล้ว การออกกำลังกายมากเกินไปแบบหนักหน่วงอาจจะไม่ดี
ทั้งนี้ จะเป็นเพราะ มันสายเกินไปแล้ว และเส้นเลือดที่ตีบ รวมกับสมองที่ทำงานอาจจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แล้ว
พอให้ไปออกกำลังกายหนักๆ พลังงานจากการหล่อเลี้ยงของเลือดอันน้อยนิดที่เหลืออยู่จึงถูกเอาไปใช้กับกล้ามเนื้อในร่างกายจนเกินไป
สมองจึงได้รับการกระทบกระเทือนเข้าไปใหญ่ ?
แต่ข้อดีกับการออกกำลังกายสำหรับคนดูแลก็คือ คนไข้กายแข็งแรงจึงสามารถช่วยเหลือตัวเองในการเดินเหินได้ง่ายกว่าถ้าเทียบกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
สรุปว่ายังไงดี?
ข้อมูลในเรื่องนี้ ถึงจะมีเยอะและยังไม่สามารถสรุปได้ว่าออกกำลังกายอะไร แบบไหน ออกนานเท่าไหร่ดีสุด
ที่สรุปไม่ได้ชัด ก็คงเป็นเพราะว่าคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน สภาพร่างกาย ระดับไขมันหรือกล้ามเนื้อก็ไม่เหมือนกัน คนที่อ้วนลงพุงก็ควรจะออกกำลังกายแนวแอโรบิคบ้าง เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจเพื่อลดไขมันที่พุง เพราะเรารู้ว่ายิ่งไขมันรอบเอวเยอะ สมองส่วนความจำก็จะยิ่งเล็ก
ส่วนคนที่กล้ามเนื้อน้อยนิดก็ควรจะมีการยกน้ำหนักกันหน่อยเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อสามารถช่วยใช้น้ำตาลในเลือดได้ดีและปกป้องสมองของเราได้
ส่วนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่ออกกำลังกายกันหนัก ๆ ก็ไม่ต้องห่วงเพราะสมองและเส้นเลือดยังดี ออกไปเถอะ น่าจะปกป้องสมองได้ แต่ถ้าออกทั้งวันทุกวัน ก็อย่าลืมทานอาหารให้พอ อย่าให้ถึงกับผอมแห้งจนเกินไป และควรจะมีวันพักผ่อนด้วยเพราะร่างกายก็ต้องการการพักผ่อนในการฟื้นฟู
ออกกำลังกายก็หมั่นยืดเส้นยืดสายและระวังกีฬาที่มีการกระแทกสูงเพราะอายุที่มากขึ้นก็จะตามมากับไขข้อเสื่อม ปั่นจักรยานบนถนนอย่าลืมหมวกกันน็อค ระวังรอบข้างและเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
จบดื้อๆ ว่า อายุมากขึ้น แถมสมอง บวก ลบ อาจเริ่มมีสมองเสื่อม ออกกำลังตามสังขาร คือเดิน ตากแดด วันที่ไร้ PM 2.5 ค่อยๆเพิ่ม วันละ 400 ก้าว และไม่เป็นการหักโหม ค่อยๆเดิน ต่อเนื่อง เข้าเป้า เกิน 4,500 ไปถึง 7,000 และเขยิบเป็น 10,000 ก้าว
อันนี้ ใช้ได้แน่ และปลอดภัยด้วย