เปิดอันตรายจาก"ซีเซียม-137"ระยะสั้น-ยาวมีมากแค่ไหน

22 มี.ค. 2566 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 11:56 น.

เปิดอันตรายจาก"ซีเซียม-137"ระยะสั้น-ยาวมีมากแค่ไหน อ่านที่นี่มีคำตอบ พร้อมเผย 2 ช่องทางในกสารรับสาร ระบุกลุ่มเสี่ยงคือผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณหรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

ศาสตราจารย์นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ความรุนแรงของซีเซียม-137 (Cesium, Cs-137) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีรังสีที่มีต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ 

สำหรับผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ผลในระยะสั้น

  • ผลที่เกิดเฉพาะที่ (local radiation injury) เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง  คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้
  • ผลต่อระบบอื่นในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก เรียกว่า กลุ่มอาการเฉียบพลันจากการได้รับรังสีปริมาณสูง (acute radiation syndrome) โดยจะมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะมีผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่ ระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ โดยผลกระทบแต่ละระบบ มีดังนี้

 

ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดต่ำลงได้

ระบบทางเดินอาหาร มีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด

ระบบประสาท  ทำให้สับสน เดินเซ ซึมลง และชักได้โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง

ผลระยะยาว 

ผลระยะยาวที่สำคัญคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ 

การรักษาด้วยยาต้านพิษ

Prussian blue เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน ใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียม โดยมีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนปื้อนตามเสื้อผ้า

กลไกการออกฤทธิ์หลักของ Prussian blue คือ Prussian blue จับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย 

นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของ "ซีเซียม" จากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (enterohepatic recirculation)

อย่างไรก็ตาม Prussian blue มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้

ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้  การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์

ช่องทางรับสารซีเซียม-137

การรับรังสีสามารถรับได้ 2 ช่องทาง คือ 

  • การรับรังสีจากภายนอก (external radiation hazard) สามารถป้องกันได้โดยใช้หลัก TDS Rule (Time, Distance, Shielding) โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด อยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุดและใช้อุปกรณ์ในการกำบังรังสี ถ้าซีเซียมที่หายถูกหลอมแล้ววิธีการที่จะป้องกันคืออย่าเข้าไปใกล้บริเวณที่เก็บฝุ่นรังสี ซึ่งจากที่รายงานปริมาณรังสีที่วัดได้จากฝุ่นมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลัง (ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ)  
  • การรับรังสีจากแหล่งกำเนิดในร่างกาย (internal radiation hazard) ที่เกิดจากการสูดหายใจ (inhalation) หรือ รับประทาน (ingestion) สิ่งที่ปนเปื้อนซีเซียม

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญของทั้ง 2 ช่องทาง คือ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณหรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตามจากรายงานค่าปริมาณรังสีในอากาศและตัวอย่างดินรอบ ๆ บริเวณพบว่ายังมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลัง