วิธีป้องกัน-แพร่เชื้อวัณโรค หลังพบเสียชีวิตปีละ 1 หมื่นราย

26 มี.ค. 2566 | 17:55 น.

วิธีป้องกันเเละการแพร่เชื้อวัณโรค หลังกระทรวงสาธารณสุขพบมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรค ปีละกว่า 1 หมื่นราย ไทยติดบัญชีประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด

"วัณโรค" ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่าปีละ 10,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ตั้งแต่ปี 2560 มีเป้าหมายยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งขณะนี้บรรลุผลในระดับหนึ่ง

อุปสรรคสำคัญต่อการยุติวัณโรคในไทย คือ ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ที่ประมาณการว่ามีมากถึง 4.5 ล้านคน มีอัตราป่วยวัณโรคสูงกว่าไทย การย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นทำให้ไม่สามารถคัดกรองวัณโรคได้อย่างครอบคลุม 

วัณโรค เป็นโรคติดต่อทางการหายใจ เชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอดไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะเกิดจากการไอ จาม หรือพูด ซึ่งละอองเสมหะเหล่านี้ สามารถมีชีวิตลอยอยู่ในอากาศหลายชั่วโมง และเมื่อมีผู้สูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด และเกิดการอักเสบได้

สังเกตอาการเตือน “วัณโรค”

  • ไอติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
  • ไอหรือเสมหะมีเลือดปน
  • มีไข้เรื้อรัง มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เหงื่อออกมาในตอนกลางคืน
  • อ่อนเพลีย
  • ผิวหนังซีด เหลือง

วัณโรคสามารถป้องกันได้

สามารถรักษาให้หายขาดได้ ใครที่ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอ ที่นานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้ง ๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะจนอาจไอเป็นเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

วัณโรคแพร่กระจายง่าย แต่สามารถป้องกันได้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่สาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค หากตนเองมีภูมิต้านทานต่ำ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยควรตรวจเอกซเรย์ปอด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • รีบไปพบแพทย์ทันที หากสงสัยว่ามีอาการเสี่ยง

วัณโรคสามารถติดต่อได้

คนเป็นวัณโรคปอด ที่มีเชื้อเสมหะยิ่งติดต่อง่าย เมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นวัณโรคหรือเสี่ยงวัณโรค ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สามารถรักษาให้หายได้ โดยการกินยาให้ครบเป็นเวลา 6 – 8 เดือน

ข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์