"โรคฮีทสโตรก" ภัยร้ายหน้าร้อนต้องระวัง อันตรายถึงชีวิต

22 มี.ค. 2566 | 20:15 น.

ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เป็นแล้วอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อาการต่างจากการเป็นลมอย่างไร แนะวิธีสังเกตพร้อมแนวทางป้องกันดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด

จากสภาพอากาศที่ร้อนของประเทศไทยในช่วงนี้ โดยกรมอุตตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อุณหภูมิในปี 2566 นี้จะขึ้นไปแตะสูงสุดถึง 40-43 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว จากสภาพอากาศที่ร้อนปรอทแตกเช่นนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเสี่ยงเป็นโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดดซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ 

สาเหตุของ "โรคฮีทสโตรก" (Heat Stroke) 

1. ความร้อนจากภายนอก เช่น แสงแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง

2. ความร้อนจากภายใน คือ ความร้อนภายในร่างกาย ที่เกิดจากการเผาผลาญจะทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย 

ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง โดยปรกติอุณหภูมิร่างกายเราจะอยู่ที่ 36-37.5 องศาเซลเซียส แต่พอเจอกับสภาพอากาศร้อน ๆ ร่างกายก็จะพยายามหาทางจัดการกับความร้อน

ร่ายกายจะปรับตัวมีการสูบฉีดโลหิต และหัวใจเต้นแรงขึ้น เลือดจะไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัว ต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น ทำให้มีเหงื่อออกมากร่างกายก็จะเสียน้ำ พอร่างกายขาดน้ำมากๆ ร่างกายจะนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญแทน พอถึงจุดนึงเลือดก็จะไปเลี้ยงไม่พอ

จากนั้นไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่กรองของเสีย และกำจัดเกลือแร่ ก็จะทำงานหนักของเสียในร่างกายก็คั่นค้าง ทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปรกติไปจนทำให้เกิดไตวาย

ความแตกต่างระหว่าง โรคฮีทสโตรก และเป็นลม

คนที่เป็นโรคลมแดดตัวจะแห้ง เนื่องจากเหงื่อออกไปเยอะจนไม่มีจะออกแล้ว และตัวจะร้อนมากอุณหภูมิร่างกายพุ่งสูงมาก อาจสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

อาการสำคัญของโรคฮีทสโตรก

  • อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก
  • ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ 

กลุ่มเสี่ยง โรคฮีทสโตรก

  • เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคผิวหนังบางชนิดที่ระบายเหงื่อได้ไม่ดี เป็นต้น
  • กลุ่มผู้ทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีอาการไม่สบายอยู่ก่อน เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งขาดน้ำอยู่ก่อนแล้ว
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนาน ๆ โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ หากจำเป็นควรสวมหมวก สวมแว่นกันแดง หรือกางร่ม
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 
  • สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนอึดอัด และระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

การดูแลผู้ป่วยโรคลมแดด

เมื่อพบเจอผู้ป่วยโรคลมแดด ควรปฏิบัติดังนี้ 

  • ย้ายผู้ป่วยเข้าในร่ม และอากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามคนทั่วไปมามุง
  • ถ้าเสื้อผ้าระบายอากาศไม่ดีให้ปลดเสื้อเล็กน้อย
  • นำผ้าชุบน้ำธรรมดา หรือน้ำเย็นมาเช็ดตัว ตามแขน ขา ข้อพับ ซอกคอ ข้อแขนต่างๆ
  • ถ้ารู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำได้ แต่ถ้าหากไม่รู้สึกตัว อย่าเพิ่งให้ดื่ม เพราะอาจจะสำลัก และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อได้

ข้อมูล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน