นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีคำถามที่พบบ่อยก็คือ จะฉีดวัคซีนโควิดอีกดีหรือไม่ เพราะทำให้บางคนเกิดความลังเลใจ
หมอยง บอกว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าโรคโควิด 19 อยู่กับเรา และกำลังเปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาล ไม่ได้หายไปไหน
ทั้งนี้ หมอยงอธิบายว่า ตามฤดูกาลระยะนี้จะเป็นระยะสงบของโรค เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ และตามฤดูกาลจะไปเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนจะเป็นผู้ขยายโรคให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากไข้หวัดใหญ่ ฤดูกาลของการฉีดไข้หวัดใหญ่จึงเป็นก่อนฤดูฝนหรือก่อนนักเรียนเปิดเทอมของทุกปี
อย่างไรก็ดี ตามความเห็นของหมอยงนั้น ในทำนองเดียวกัน เมื่อโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำฤดูกาล วัคซีนก็ควรจะได้รับก่อนที่จะมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม ประเทศไทยจะเป็นช่วงที่โรคสงบ
อย่างไรก็ตามวัคซีนประจำปีควรได้รับตั้งแต่ปลายเมษายนจนถึงพฤษภาคมเพื่อไปรองรับ ในฤดูฝนหรือช่วงนักเรียนเปิดเทอม
ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนอย่างยิ่งคือกลุ่มเสี่ยง ที่เมื่อติดโรคแล้ว จะรุนแรง ดังนั้น
หมอยง หยิบยกข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาของศูนย์พบว่า
ผู้ที่ "ฉีดวัคซีน" แล้วอย่างน้อย 3 เข็ม ร่วมกับการติดเชื้อมาแล้ว ภูมิต้านทานจะอยู่ในระดับที่สูงมากและอยู่นานเกิน 6 เดือน ยังมีระดับที่ค่อนข้างสูง
ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่เคยติดเชื้อ ควรได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีน หลังจากเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว เพื่อยกระดับภูมิต้านทานให้สูงขึ้นและเตรียมรองรับโควิด 19 ประจำฤดูกาล
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ถึงแม้ว่าภูมิจะอยู่ในระดับสูง ก็คงจะปรับวิธีการให้วัคซีน เข้าสู่วัคซีนประจำฤดูกาล คือให้ทุกปีในปลายเดือนเมษายนต่อพฤษภาคมของทุกปีเพื่อป้องกันการระบาดในฤดูฝน
ขณะที่ในเด็กหรือวัยทำงานที่มีร่างกายแข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัว และได้รับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม และยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือเคยติดเชื้อแต่ไม่เคยได้รับวัคซีน ก็สามารถปรับให้การให้วัคซีนเป็นแบบประจำปีไปได้เลย
ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดีได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็มเป็นอย่างน้อยร่วมกับการติดเชื้อ จะยังไม่รับวัคซีนรอไปฤดูกาลหน้าก็มีความเป็นไปได้ แต่เมื่อได้รับเชื้อก็อาจจะมีการติดเชื้อแต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง
หมอยง บอกอย่างน่าสนใจด้วยว่า แต่ละคนควรจะพิจารณาความเสี่ยงของตัวเองในการเกิดโรคแล้วจะรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ กับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเมื่อเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล