จุลินทรีย์ในลำไส้เกี่ยวข้องยังไงกับสมองเสื่อม น่ากลัวแค่ไหน อ่านที่นี่

02 เม.ย. 2566 | 02:09 น.

จุลินทรีย์ในลำไส้เกี่ยวข้องยังไงกับสมองเสื่อม น่ากลัวแค่ไหน อ่านที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์ชี้มีหลักฐานเชื่อมโยงลำไส้เส้นประสาทและสมองที่สำคัญ คือไส้ติ่ง ระบุผ่าตัดไส้ติ่งลดเสี่ยงพาร์กินสันได้ 20%

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความระบุว่า จุลินทรีย์ในลำไส้มีความเกี่ยวอย่างไรกับสมองเสื่อม

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า การจัดระยะการดำเนินโรค Braak staging นอกจากในพาร์กินสันยังมีเช่นกันในโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่ปี 1991 และจัดแบ่งระยะที่หนึ่งถึงสอง ระยะที่สามถึงสี่ และระยะที่ห้าถึงหก ตามตำแหน่งของสมองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติ 

และโปรตีนพิษเหล่านี้จะมีการเคลื่อนย้ายส่งผ่านไปสู่สมองส่วนต่างๆเป็นระเบียบ ตามลักษณะของโรคแต่ละชนิด

หมอธีระวัฒน์ อธิบายว่า ลักษณะการเคลื่อนย้ายส่งผ่านโปรตีนพิษเหล่านี้จะพบได้ในสมองเสื่อมประเภทต่างๆด้วย เช่น fronto temporal dementia (FTD) progressive Supranuclear palsy (PSP) amyotrophic lateral sclerosis (ALS) โปรตีนเหล่านี้เป็นอันตราย 

โดยจะมีตัวรับสัญญาณอันตรายในเซลล์ที่พยายามจะคลี่คลายโปรตีนเหล่านี้ ซึ่งกำจัดทิ้งหรือจะคลายตัวให้เป็นปกติและนำไปใช้ใหม่ ทั้งนี้จะสู้ไหวหรือไม่ขึ้นอยู่กับชะตากรรม พันธุกรรมที่เกิดมา อายุและโรคประจำตัวอื่นๆ โดยเฉพาะที่ทำให้เกิดการอักเสบ

ประเด็นสำคัญที่หมอธีระวัฒน์บอกต่อคือ มีหลักฐานที่เชื่อมโยงลำไส้เส้นประสาทและสมองที่สำคัญ คือไส้ติ่ง โดยคนที่ผ่าตัดไส้ติ่งจะลดความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันได้ประมาณ 20% โดยเฉพาะถ้าอยู่ในชนบท อยู่กับธรรมชาติจะลดลงได้ถึง 25.4% และถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นขึ้นมาก็จะเกิดอาการช้ากว่า 3.6 ปี 
 

สำหรับผู้ที่ผ่าไส้ติ่งไปแล้วนานกว่า 30 ปี ซึ่งตรงกับข้อมูลอีกหลายรายงาน ที่แม้ว่าไส้ติ่งของคนปกติจะมีโปรตีนของพาร์กินสันอยู่ก็ตาม แต่ปริมาณโปรตีนของคนที่เป็นพาร์กินสันนั้นจะมากกว่าถึง 4.5 เท่า

หมอธีระวัฒน์ ยังบอกอีกว่า เส้นประสาทที่เชื่อมโยงลำไส้กับสมองคือเส้นที่ 10 โดยพบว่า ถ้ามีการตัดเส้นประสาทเส้นนี้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ถ้าตัดเป็นบางส่วนจะไม่ช่วยลดความเสี่ยงพาร์กินสันเทียบกับตัดทั้งยวง

นอกจากนี้ หมอธีระวัฒน์ ได้หยิบยกรายงานสำคัญอย่างยิ่งในปี 2013 ในวารสาร Nature Medicine พิสูจน์ความสำคัญของ "จุลินทรีย์" ในลำไส้ โดยอาหารที่มีโคลีน ฟอส ฟาทิดิลโคลีน คาร์นิทีน (L-carnitine) มาก ได้แก่ เนื้อแดง ไข่แดง เมื่อตกไปถึงลำไส้ จะถูกจุลินทรีย์ย่อยและเปลี่ยนไปเป็นสารที่ก่อการอักเสบในร่างกายและเส้นเลือด คือ TMA ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็น TMAO ในตับ 

และแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนที่กินเนื้อเมื่อทดลองให้กินแอล-คาร์นิทีนจะมีการผลิตสารอักเสบในระดับที่สูงกว่าคนที่เป็นมังสวิรัติหรือกินพืชผักผลไม้เป็นหลัก 

ที่สำคัญก็คือ มีแบคทีเรียตระกูลดีและเลวต่างกัน เมื่อทำการตรวจอุจจาระและมีความสัมพันธ์กันกับทั้งชนิดของอาหารที่กินเป็นประจำและระดับของสารอักเสบ TMAO และระดับของสารอักเสบนี้เองยังสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัด คนที่จะเกิดเรื่องเป็นหัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจตัน เส้นเลือดสมองตัน การให้หนูกินแอล-คาร์นิทีนนานๆ จะไปเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้และผลิตสารอักเสบ 

รวมกระทั่งทำให้เกิดมีเส้นเลือดแข็งและตีบ และในหนูที่มีจุลินทรีย์ที่ดี แม้จะให้อาหารที่มีสารเหล่านี้อยู่ จะไม่เกิดผลร้าย
 

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นการเชื่อมโยงชนิดประเภทของอาหารส่วน ประกอบในอาหาร จุลินทรีย์ในลำไส้ การเกิดสารอักเสบย้อนกลับเข้าไปทำร้ายร่างกายและเส้นเลือด

รายงานที่มาคู่กันในวารสารนิวอิงแลนด์เจอนัล ในปีเดียวกันได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันถึงอาหารที่มีโคลีน เลซิติน จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคของเส้นเลือดในร่างกาย

เส้นเลือดยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสมองเช่นเดียวกันดังในรายงานในวารสาร Nature communications ปี 2016 ที่พบว่าความผิดปกติของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เริ่มต้นประการแรก จากเส้นเลือดที่ไม่สามารถปรับตัวส่งเลือดไปยังสมองได้ตามความเหมาะสม (vascular dysregulation) ก่อนหน้าที่จะมีการสะสมของโปรตีนพิษในสมองด้วยซ้ำ

รายงานยังได้อธิบายถึงวงจรของสมองเสื่อมด้วยว่า จึงประกอบไปด้วยการอักเสบในร่างกาย ซึ่งกระทบกับเส้นเลือดในสมอง เป็นการยิงเป้า hit 1 และต่อด้วย hit 2 คือการผลิตโปรตีนบิดเกลียวเพิ่มขึ้นและระบบการกำจัดลดลง นำไปสู่การทำงานแปรปรวนของระบบประสาท และถ้าไม่ได้ถูกแก้ไข เส้นประสาท เซลล์ประสาท เสียหาย ตาย สมองเหี่ยวฝ่อ เกิดเป็นอาการสมองเสื่อมเต็มขั้น

บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ยังถูกค้นพบเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้นมา ตั้งแต่ปี 2000 จนกระทั่งถึงปี 2022 ทั้งนี้โดยที่คนที่ถูกกำหนดชะตากรรมว่าสมองเสื่อมจะมีจุลินทรีย์ในลำไส้ผิดปกติทั้งในด้านการขาดความหลากหลายของชนิดจุลินทรีย์และประเภทกลุ่มที่มีอยู่นั้น กลายเป็นพวกที่หน้าตาดุร้ายร้อนแรง สร้างการอักเสบ (dysbiosis) ดังรายงานในปี 2016 เป็นต้น ที่เป็น Escherichia/Shigella 

แทนที่จะเป็น Eubacterium rectale และยังสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ในหนูที่ปรับแต่งพันธุกรรมเหนี่ยวนำให้เป็นสมองเสื่อมแบบในคน รวมทั้งทำให้เป็นหนูที่ปราศจากเชื้อ (germ free) จะมีโปรตีนพิษไม่มากนัก แต่เมื่อใส่แบคทีเรียที่ได้จากหนูธรรมดาหรือหนูสมองเสื่อมเข้าไปในลำไส้ จะมีการผลิตโปรตีนพิษเพิ่มมากขึ้นในทันทีในมนุษย์ เช่น ในรายงานปี 2020 จากคณะนักวิทยาศาสตร์อิตาเลียนพบว่าการสะสมตัวของโปรตีนพิษอมิลอยด์ มีความสัมพันธ์กับสารไม่ดีที่แบคทีเรียในลำไส้ผลิตขึ้นโดยการวัดระดับ lipopolysaccharide (LPS) กรดไขมันสายสั้น acetate valerate butyrate และสารที่เหนี่ยวก่อให้เกิดการอักเสบและตัวที่ชี้วัดการทำงานผิดปกติของเซลล์หลอดเลือด จากนั้นนำไปเปรียบเทียบเพื่อหาความสัมพันธ์กับการตรวจ PET scan และทดสอบการทำงานของสมอง

ลักษณะความเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตากลุ่มของจุลินทรีย์ ทั้งระดับ phylum class และ genus ยังมีการศึกษาในคนไข้สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ใน Kazakhstan เช่นกัน และดูคล้ายกับว่าจะมีแบบแผนเฉพาะในเชื้อชาติเข้ามาด้วย และรวมทั้งการศึกษาชนิดประเภทของจุลินทรีย์ในลำไส้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคพาร์กินสัน และโรค "สมองเสื่อม" ที่ชื่อว่า diffuse Lewy body (DLB) และแม้แต่ DLB ที่เริ่มเป็นหรือที่เป็นเต็มเหนี่ยวแล้ว จะมีหน้าตาของจุลินทรีย์ต่างกันชัดเจน

"ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของรูปแบบของจุลินทรีย์ในโรคทางสุขภาพต่างๆ โรคสมองเสื่อมและการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหาร" หมอธีระวัฒน์สรุป