18 เมษายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรคซึ่งเทียบเคียงกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
โดยคาดว่า ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชาชนลดลงจากการที่มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุดนานเกิน 6 เดือนเพิ่มขึ้นและพบผู้ติดเชื้อลดลงในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 รวมทั้งพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศทำให้จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็ก ๆ ได้ในช่วงเปิดเทอมและจะพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย พบว่า อายุไม่มากแต่รายหนึ่งมีโรคประจำตัว ส่วนอีกรายได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกินกว่า 3 เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง
ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันจึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้
ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันสามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้เช่นกัน โดยติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน
นอกจากนี้ควรสวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และหากติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลซึ่งได้จัดเตรียมยาและวัคซีนไว้ให้บริการอย่างเพียงพอแล้ว
ทั้งนี้ จากข้อมูลสัปดาห์ล่าสุด ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่ 435 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวโดยเป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัวและการร่วมกิจกรรมที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก
แนะนำว่า ช่วงหลังสงกรานต์ 1-2 สัปดาห์นี้ควรเน้นมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือบ่อย ๆ ทั้งในครอบครัวและสถานที่ทำงาน นพ.โอภาส ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวทิ้งท้าย