นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดผยถึงกรณีชายสัญชาติเมียนมา อายุ 34 ปี เสียชีวิตภายในห้องพัก เขตสาทร กทม. และตรวจ ATK พบเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 ผลการสอบสวนพบว่า ผู้เสียชีวิตทำงานเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งใน กทม. ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 มาก่อน
และไม่มีประวัติเข้ารับการรักษาโรคโควิด 19 ก่อนเสียชีวิต โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้เสียชีวิตได้เล่นน้ำสงกรานต์กับเพื่อน และเริ่มเป็นไข้ มีอาการตาแดง ซื้อยาทานเองอยู่แต่ในห้องพัก ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล จนมีผู้มาพบว่านอนเสียชีวิตในห้องพัก
ทั้งนี้ ผลตรวจภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT scan) ของศพโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าได้กับภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรง ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16.1 ดังนั้น จึงขอย้ำให้ผู้ไม่เคยรับวัคซีน รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสู้กับโควิดสายพันธุ์ต่างๆ
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังเทศกาลสงกรานต์ และสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 1,088 ราย เฉลี่ยวันละ 155 คนต่อวัน สูงขึ้น 2.5 เท่าเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และคาดว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมี ยา เวชภัณฑ์สำรอง และเตียงเพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง แนะนำประชาชนเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี สำหรับกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกันได้ และหากป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK รวมทั้งเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากาก และรีบไปพบแพทย์
หากมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ถ้าเป็นกลุ่ม 608 ให้รีบพบแพทย์เมื่อทราบผลตรวจ ATK เป็นบวก
สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ไปรับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 องค์การอนามัยโลกได้ปรับสถานะเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16 ให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (Variant of Interest: VOI) จากเดิมเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (Variant under Monitoring: VUM)
อย่างไรก็ตาม การตรวจโควิด 19 ในปัจจุบันด้วยวิธี Real-time PCR และชุดตรวจ ATK ยังสามารถพบการติดเชื้อโควิดได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ลูกผสม
อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 เพียงพอในระดับบุคคลและประชากร เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยสามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ ฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน
และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง