"โซเดียม ไทโอซัลเฟต"คืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับ"แอม ไซยาไนด์"ดูเลย

28 เม.ย. 2566 | 03:16 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 03:16 น.

"โซเดียม ไทโอซัลเฟต"คืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับ"แอม ไซยาไนด์"ดูเลย ฐานเศรษฐกิจมีคำตอบ หลังผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดตรวจพบจากพัสดุที่ผู้ต้องหาสั่งซื้อสารเคมี ชี้แอมมีความรู้ด้านเคมีดี

โซเดียม ไทโอซัลเฟตคือยาอะไร กำลังเป็นเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ "แอม ไซยาไนด์" ถูกพิสูจน์พบว่ามีการสั่งซื้อสารเคมีดังกล่าว 

โดยที่ล่าสุด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสารตัวยาไซยาไนด์ ในวัตถุพยานคดี ได้โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า "คุณแอม มีความรู้ด้านเคมีอย่างดี ล่าสุดพัสดุที่สั่งซื้อสารเคมีตรวจสอบแล้วเป็น Sodium thiosulfate"

ทั้งนี้ จากการอ้างอิงตามข้อมูลของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ให้ sulfur group แก่ไซยาไนด์ที่ถูกดึงออกมาจากไซโทโครม (Cytochromes) เพื่อเปลี่ยนไซยาไนด์ ให้เป็นไทโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งเป็นพิษน้อยกว่าแล้วถูกขับออกทางไต เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ใช้ร่วมกับไนไตรท์ (nitrite) ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับ โซเดียม ไทโอซัลเฟต ให้เพิ่มมากขึ้น พบว่า 

ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate หรือ Sodium thiosulphate)คือ ยาที่ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี สามารถละลายน้ำได้ดี 

ประโยชน์ทางแพทย์ คือ ใช้เป็นยาต้านพิษของสาร "ไซยาไนด์" (Cyanide) ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นสารละลายสำหรับฉีด และใช้ควบคู่ไปกับยา Sodium nitrite นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาป้องกันโรคเชื้อราในสูตรตำรับของยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์ใช้ต่อต้านพิษจากไซยาไนด์ และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่ง จากแพทย์เท่านั้น

สรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร

  • ใช้รักษาและบำบัดอาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning)

กลไกการออกฤทธิ์

  • กลไกการออกฤทธิ์ของ ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต คือ ตัวยาจะปลดปล่อยธาตุกำมะถันเพื่อเปลี่ยนสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษไปเป็นสารไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ในทางคลินิกยานี้จะใช้ควบคู่ไปกับ ยา Sodium nitrite แต่หากได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ไม่รุนแรงมากอาจใช้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต เพียงตัวเดียวก็ได้

รูปแบบการจัดจำหน่าย

  • ยาฉีดที่เป็นสารละลายขนาด 12.5 กรัม/50 มิลลิลิตร

ขนาดการบริหารยาอย่างไร

ขนาดการบริหารยา/การใช้ยาสำหรับรักษาอาการผู้ที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ 

  • ผู้ใหญ่: ให้ Sodium nitrite ในรูปสารละลายทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาขนาด 300 มิลลิ กรัม ให้ยาช้าๆภายในช่วงเวลา 5 - 20 นาที, จากนั้นให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต 12.5 กรัมในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตรโดยให้ทางหลอดเลือดดำ ให้ยาช้าๆเป็นเวลาประมาณ 10 นาที, และแพทย์อาจพิจารณาให้ยา Sodium nitrite และ โซเดียม ไทโอซัลเฟต ซ้ำอีก หลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาทีโดยอาจลดปริมาณยาทั้ง 2 ตัวเหลือเพียงครึ่งเดียว
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ให้ Sodium nitrite ในรูปสารละลายทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาขนาด 4 - 10 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม, จากนั้นติดตามด้วยการให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต โดยใช้ยาขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมให้ในรูปสารละลาย ขนาดสูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม, และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้ว 30 นาทีโดยอาจลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่ง

หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ผลไม่พึงประสงค์

ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • กระสับกระส่าย
  • ตาพร่า
  • ประสาทหลอน
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ปวดบริเวณข้อต่างๆของร่างกาย
  • ปัสสาวะมาก
  • อาจพบภาวะหูดับ

ข้อควรระวังการใช้ 

  • ระวังการใช้ยา โซเดียม ไทโอซัลเฟต กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาตัวนี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคไต สตรีที่ป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ระวังการใช้ยานี้ ในสตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ