“เฮลท์ & เวลเนส” บูม “ฉมา” สยายปีกสมุนไพรออร์แกนิค ตีตลาดไทย-ต่างชาติ

07 พ.ค. 2566 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2566 | 02:38 น.

ตลาดเฮลท์ & เวลเนสทั่วโลกบูม ปลุกตลาดสมุนไพรออร์แกนิคคึกคัก “ฉมา” เปิดเกมรุกต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมสปีดขึ้นเชลฟ์ “คิงเพาเวอร์” แตกไลน์ธุรกิจร้านอาหารด้วยคอนเซปต์ “อาหารเป็นยา”

กลายเป็นเทรนด์ที่คนทั่วโลกและคนไทยให้ความสนใจ ทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยเรียน วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มคนสูงอายุ สำหรับ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค” โดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ากว่า 70% ต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางเลือกโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร ออร์แกนิค

ขณะเดียวกัน GWI คาดการณ์มูลค่าตลาด Health & Wellness ทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการเติบโตราว 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.9 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ 1. การดูแลตัวเอง ความสวยงาม การชะลอวัย 2. การทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรือทานอาหารเป็นยา 3. การออกกำลังกายและกายภาพ

4. สาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่คาดการณ์ว่าจะโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9% ภายในปี 2568 และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใช้จ่ายต่อหัวมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 58 % เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดประเทศไทย และ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค” ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ในทุกกลุ่มได้อย่างลงตัวส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยตื่นตัว

“เฮลท์ & เวลเนส” บูม “ฉมา” สยายปีกสมุนไพรออร์แกนิค ตีตลาดไทย-ต่างชาติ

รวมไปถึง “ฉมา” หนึ่งในผู้บุกเบิกสมุนไพรออร์แกนิคมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยนางสาวปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ฉมาเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสมุนไพรเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการทำฟาร์มออแกนิค เพื่อรักษาคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งและไม่สามาราถทำคีโมได้ ปัจจุบันมีฟาร์ม 3 แห่งคือทวีวัฒนา พุทธมณฑล และระยอง

ก่อนขยับขยายเป็นคลินิกแผนไทย “ฉมาสหคลินิก” เพื่อรองรับผลผลิตจากฟาร์มโดยใช้รูปแบบการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์ผสมผสานออกแบบเฉพาะกับอาการของแต่ละบุคคล โดยมีแพทย์แผนไทยจ่ายยา ให้บริการนวดรักษาและผสมผสานกับแพทย์ปัจจุบันเช่นการให้วิตามิน ปัจจุบันมี 1 สาขาเน้นเจาะตลาดคนไทยเป็นหลักและได้รับผลตอบรับอย่างมากจากกลุ่มครอบครัว กลุ่มคนที่ชื่นชอบแนวทางการรักษาแบบธรรมชาติบำบัด อาหารเป็นยา และสุดท้ายกลุ่มนักท่องเที่ยวจากการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“ตอนนี้เรายังไม่มีแผนขยาย “ฉมาสหคลินิก” เพราะชาเลนจ์ในการขยายเรื่องของแพทย์แผนไทย ในช่วงหลังมีแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่หันมาเปิดคลินิกแผนไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะมีคนมาช่วยกันบิ๊วตลาดสมุนไพรมากขึ้น”

“เฮลท์ & เวลเนส” บูม “ฉมา” สยายปีกสมุนไพรออร์แกนิค ตีตลาดไทย-ต่างชาติ

นอกจากนี้ “ฉมา” ยังขยับขยายโรงงานยาสมุนไพรและร้านค้าสุขภาพในช่วงโควิด ภายใต้แบรนด์ “ฉมา ฟาร์ม” และ “ฉมา เฮิร์บ” เบื้องต้นเลือกผลิตจากสมุนไพรตามบัญชียาหลักของชาติที่อย.กำหนดราว 30 รายการที่ครอบคลุมหลายโรค เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้รักษาคนไข้ใน “ฉมาสหคลินิก”

เพราะแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะเปิดโอกาสและส่งเสริมยาสมุนไพรมากขึ้น แต่การขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรที่เป็นนวัตกรรมยังต้องใช้ระยะเวลารอขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์คือ ต้องเป็นยาที่ถูกใช้และเห็นผลมาแล้ว 10 ปีและมีการเก็บข้อมูล ซึ่งตอนนี้ยานวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นยังนำมาใช้และเห็นผลจริงเพียง 5 ปี เท่านั้น

อย่างไรก็ตามยาสมุนไพร “ฉมา ฟาร์ม” และ “ฉมา เฮิร์บ” ได้มาตรฐานส่งออกของออร์แกนิคเรียบร้อยแล้ว ส่วนมาตรฐานโรงงานยังอยู่ระหว่างรอการตรวจ GMP ASEAN ซึ่งรอคิวตรวจสอบและประเมินมาแล้วกว่า 2 ปี

“การสร้างแบรนด์สมุนไพรไม่ได้ง่าย เพราะการตลาดยังไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณได้ทำให้การทำการตลาดยาก และทำตลาดส่งออกยิ่งทำได้ยากกว่าเดิมและการส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นธุรกิจที่ถูกผูกขาดมาอย่างยาวนาน ดังนั้นเราขายได้แค่วัตถุดิบเพียงอย่างเดียวซึ่งมูลค่าต่ำมาก ดังนั้นการผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจึงเป็นการสร้างแวลูให้กับสมุนไพรไทยของเรา โดยเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นของฝาก”

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เรือธงของ “ฉมา” ในปี 2566 นี้คือ ผลิตภัณฑ์ยาขี้ผึ้งกลิ่นน้ำมันตะไคร้หอม และยาพิมเสนน้ำกลิ่นตะไคร้หอม เพื่อเปิดตลาดสินค้าออร์แกนิคที่กำลังเป็นที่นิยมโดยเน้นบุกตลาดคนรุ่นใหม่ และผู้สูงอายุ ที่มีกำลังซื้อ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความนิยมและมองหาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติหรือออร์แกนิค นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาหลังโควิด

“เฮลท์ & เวลเนส” บูม “ฉมา” สยายปีกสมุนไพรออร์แกนิค ตีตลาดไทย-ต่างชาติ

โดยข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ปริมาณนักท่องเที่ยวราว 18 ล้านคนภายในสิ้นปีหน้า โดยเฉพาะชาวซาอุดีอาระเบียที่จะเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1,000% จากการเปิดประเทศ ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับเข้ามา ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวในประเทศเองมีแนวโน้มออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่ง ฉมา ได้ส่งผลิตภัณฑ์ “วิรงรอง รีเฟรช สเปรย์” เข้าไปวางขายในคิงเพาเวอร์ เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

“การที่เราทำร้านของเพื่อวางจำหน่ายสินค้าสมุนไพรของเราข้อดีคือ เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาเห็นผลิตภัณฑ์และสนใจนำเข้าไปทำตลาดในประเทศของเขาก็อาจเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ง่ายกว่าเราเข้าไปขยายหรือส่งออกเอง โดยตอนนี้ลูกค้าหลักของร้านตอนนี้จะเป็นกลุ่มยุโรปและจีนเป็นหลัก”

สุดท้าย “ฉมา” ต่อยอดมาสู่ธุรกิจร้านอาหารโดยมีอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพในคอนเซปท์ “อาหารเป็นยา” เพราะในชีวิตประจำวันหากเรากินให้ดีโรคภัยก็จะไม่มี ซึ่งเมนูอาหารและเครื่องดื่มในร้านถูก approve ด้วยวิทยาศาสตร์และมีการวัดค่าการรักษา การต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ด้วย และเป็นการต่อยอดธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้ครบอีโคซิสเท็มเพราะวัตถุดิบที่ใช้ภายในร้านจะส่งตรงจากฟาร์มออแกนิคที่สามพรานทุก 3 วัน ส่วนน้ำที่ใช้ประกอบอาหารและเครื่องเป็นน้ำที่ใช้รักษาโรคที่ผ่านเครื่องทำน้ำ 9.5 หรือน้ำไฮโดรเจน

“ถ้าเราต้องการเจาะตลาดคนไทยจะต้องเป็นคลินิกแพทย์แผนไทยเป็นหลัก แต่หากต้องการเจาะลูกค้าต่างชาติจะต้องเป็นลักษณะของเวลเนส และถ้าเราอยากโปรโมทของไทยให้นักท่องเที่ยว สิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายคือการกินดื่มและของฝาก เพราะการรักษาต้องใช้เวลาในการให้บริการและภาษาที่เป็นอุปสรรค”

นางสาวปรินดา กล่าวอีกว่า การใช้สมุนไพรเป็นวิถีชีวิตที่มีรากเหง้ามายาวนาน บางอย่างอาจหายไปเพราะไม่มีการสืบต่อ ในอดีตสมุนไพรได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่มีอายุเพราะคนหนุ่มสาวไม่ป่วยตามกลไกธรรมชาติ แต่โควิดเป็นตัวเร่งและทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสมุนไพรมากขึ้นและมองว่าเป็นทางรอดและต่อเนื่องมาจนถึงเรื่องของเวลเนส เพราะคนคอนเซิร์นต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพ และต้องการเสียชีวิตแบบไม่ทรมานจากโรคภัย ซึ่ง “ฉมาสหคลินิก” เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการเป็นลองโควิด โดยจ่ายยาสมุนไพรในช่วงโควิดนับหมื่นคน

“เฮลท์ & เวลเนส” บูม “ฉมา” สยายปีกสมุนไพรออร์แกนิค ตีตลาดไทย-ต่างชาติ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันอุตสาหกรรมสมุนไพรยังไม่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะกำแพงด้านกฏหมาย เพราะในการขึ้นทะเบียนหรือขอนุญาตยังใช้เกณฑ์ต่างประเทศมาวัด และในการคิดค้นหรือผลิตยาสมุนไพรจะต้องให้มหาวิทยาลัยเป็นงานวิจัยให้เอกชนและจะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยซึ่งกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทำให้สุดท้ายถ้าเอกชนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ทำให้อุตสาหกรรมไปต่อได้ลำบาก

“โดยหลักการจะต้องช่วยให้เอกชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะฉะนั้นภาครัฐจะต้องหาเกณฑ์ของคำว่าดีของสมุนไพรไทยให้ได้ โดยไม่ใช้เกณฑ์ของต่างประเทศมาควบคุมและย่นระยะเวลาการขึ้นทะเบียนให้ได้”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,884 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566