การพัฒนาเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยนั้นยังคงมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และซีอีโอบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นแรกของใบยาว่า เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นซึ่งทดสอบระยะที่ 1 พบผลข้างเคียงไม่ต่างจากวัคซีนชนิดอื่น ๆ ส่วนประสิทธิภาพและการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เทียบได้กับวัคซีนชนิด แอสตราเซเนกา ส่วนวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งยังคงใช้สายพันธุ์ดั้งเดิม
โดยผลการทดสอบระยะที่ 1 สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น เทียบได้กับชนิด mRNA และกำลังจะทดสอบในระยะที่ 2 ในมนุษย์ โดยจะเริ่มรับสมัครอาสาสมัครทดสอบวัคซีนในเดือนสิงหาคม2566 ในประชากรอายุ 18-60 ปี จำนวน 70-100 คน ทั้งผู้ที่เคยรับวัคซีนทุกชนิดมาก่อน หรือผู้ที่เคยติดโควิด-19 ก่อน โดยการทดสอบนี้จะเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ การที่ยังใช้สายพันธุ์เดิม เพราะการผลิตวัคซีนนั้น จะต้องทำการพัฒนาจนจบให้ได้อย่างน้อยระยะที่ 2 จึงจะเปลี่ยนสายพันธุ์ หากใช้สายพันธุ์ใหม่ก็ต้องเริ่มกระบวนการตั้งแต่ต้นใหม่อีก คาดว่า ผลการทดสอบระยะ 2 จะสามารถสรุปผลการทดสอบได้ภายในสิ้นปี 2566 หากสามารถหางบฯสนับสนุนได้เพิ่มเติมก็จะทำการทดสอบพัฒนาวัคซีนโควิดในระยะที่ 3 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม องค์วามรู้ที่ได้จากการวิจัยทุกระยะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวัคซีนและยา แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะลดลง แต่ทำให้เราได้ใช้วิกฤตในการสร้างองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนและสร้างฐานการผลิตในประเทศ เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ หากเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้ง ก็เชื่อว่าเราสามารถลผิจวัคซีนได้แน่นอน ในสถานการณ์ปกติเราก็จะผลิตยาและวัคซีนอื่นๆ เพื่อให้เราอยู่ได้ด้วยตนเอง
"เป้าหมายการผลิตวัคซีนของใบยาเพื่อเป็นเข็มกระตุ้นซึ่งอาจจะต้องมีการฉีดปีละ 1 ครั้ง จำนวน 5-10 ล้านคนซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าวัคซีนได้ส่วนหนึ่ง
สิ่งสำคัญ คือ ผลจากการทดสอบระยะที่ 1 เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปผลิตยามะเร็งได้เพราะผลการใช้โปรตีนจากพืชที่นำมาฉีดในมนุษย์มีความปลอดภัย เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราสามารถนำไปพัฒนาเป็นยามะเร็งได้ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของ บ.ใบยาฯ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพรุ่นแรกของจุฬาฯ มีกำลังการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมสามารถผลิตวัคซีนได้ 5 ล้านโดสต่อเดือนหรือ 60 ล้านโดสต่อปีรวมทั้งการผลิตยา ทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติทำวิจัยให้กับนิสิตปริญญาโทและเอก เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางอาชีพของนิสิตในอนาคต หากเป็นไปได้ก็อยากให้พัฒนาเป็นสตาร์ทอัพรุ่นต่อ ๆ ไป
นอกจากนี้บริษัทใบยายังได้จัดตั้งบริษัทที่ประเทศอเมริกาเพื่อขายยาในระดับโลก โดยมีฐานการผลิตที่ประเทศไทย สาเหตุที่เลือกฐานการผลิตและทดสอบยาและวัคซีนในประเทศไทยก็เพื่อให้เกิดการสร้างงานในประเทศ ทั้งทีมทดสอบและทีมวิจัย เป็นต้น