การทำกายภาพบำบัดเป็นบริการทางการแพทย์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง ล่าสุด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ลดอาการปวดฟื้นฟูร่างกายสู่ภาวะปกติให้สามารถดำเนินกิจวัตรในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่
1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
2. ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury)
3. ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่
4. ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip ) ที่ต้องได้รับการฟื้นสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care : IMC) ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพ
ทั้งนี้ ด้วยผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับบริการหลายครั้งและต่อเนื่อง แต่เนื่องด้วยจำนวนผู้ป่วยรอรับบริการมีจำนวนมากเกิดความแออัดในโรงพยาบาลรวมถึงความสะดวกในการเดินทางไปรับบริการ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ป่วยในการเข้ารับบริการส่งผลต่อประสิทธิผลในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยได้
สปสช. จึงได้เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ทั้ง 4 กลุ่มโรคข้างต้นนี้ โดยชวน "คลินิกกายภาพบำบัด" ที่มีมาตรฐานการบริการเข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยในระบบบัตรทองในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้ "คลินิกกายภาพบำบัด" ร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยเริ่มต้นมีคลินิกกายภาพบำบัดร่วมนำร่อง 24 แห่ง
จากผลการดำเนินงานปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองกับ สปสช. แล้วจำนวน 58 แห่ง ช่วยให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคเข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะ 3-6 เดือน
หลังจากอาการของผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤต หรือแพทย์ประเมินให้พ้นการเป็นผู้ป่วยใน ที่เป็นช่วงเวลาทองของการบำบัดรักษา (golden period) เนื่องจากเป็นระยะสมองและระบบประสาทต่างๆ ของร่างกายมีความพร้อมที่จะรับการฟื้นฟูสภาพ หากได้รับการบำบัดที่ถูกต้องและต่อเนื่องก็จะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ และสามารถลดความพิการได้
สำหรับรูปแบบของการให้บริการจะเป็นการเชื่อมต่อบริการกายภาพบำบัดโดยมีโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายให้กับคลินิกกายภาพบำบัดและทำการประสานส่งต่อผู้ป่วยที่อาการพ้นระยะวิกฤตหรือที่แพทย์ประเมินจำหน่ายจากผู้ป่วยในให้มารับทำการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายต่อเนื่องที่คลินิกกายภาพบำบัดโดยมีหลักเกณฑ์การบริกาiกายภาพบำบัดแบบเข้มข้นร่วมกับหน่วยบริการไม่เกิน 20 ครั้ง ในช่วง golden period
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ในรูปแบบเครือข่ายบริการที่โรงพยาบาลร่วมกับคลินิกกายภาพบำบัดนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับโรงพยาบาลเองที่ช่วยลดภาระงานบริการและความแออัดของโรงพยาบาลผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพสมรรถภาพที่มีมาตรฐานและมีความสะดวกเพิ่มขึ้น
โดยล่าสุด สปสช.ขอเชิญชวนคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 800 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลจากสภากายภาพบำบัด) มาร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. พร้อมขอให้โรงพยาบาลในระบบ สปสช. ประสานกับคลินิกกายภาพบำบัดในพื้นที่ มาเป็นเครือข่ายบริการของโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการบริการกายภาพบำบัดให้กับโรงพยาบาลได้
"ประชาชนอาจยังไม่ทราบว่า การทำกายภาพบัดบัดในผู้ป่วยบัตรทองใน 4 กลุ่มโรค วันนี้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯแล้ว
นอกจากการรับบริการที่โรงพยาบาลแล้วยังสามารถขอรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดที่เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลได้ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลแล้ว ยังมีความสะดวก ไม่แออัด และไม่ต้องรอคิวนาน" เลขาธิการ สปสช. กล่าว