โรคไข้เลือดออก 2566 ระบาดหนัก นายกฯ สั่งเกาะติดสถานการณ์

19 มิ.ย. 2566 | 04:16 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 04:25 น.

โรคไข้เลือดออก ประเทศไทย ในปี 2566 กลับมาระบาดหนัก พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายเท่า นายกฯ สั่งเกาะติดสถานการณ์ ห่วงกลุ่มเด็กวัยเรียนมีอัตราป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุด เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยประเมินว่า โรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปี 2566 นี้ตามวงรอบของปีที่จะระบาด

ล่าสุดสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะระยะนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน กำชับกรมควบคุมโรค และกระทรวงศึกษาธิการ ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ อสม. และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสัปดาห์ เน้นพื้นที่บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่พบลูกน้ำยุงลายสูงสุด รวมทั้งฝากเตือนประชาชนขอให้ระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดด้วย

ไข้เลือดออกระบาดหนักถึง 3.8 เท่า

รายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค ระบุจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด คือ จังหวัดตราด (เกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ คลองใหญ่) น่าน (สองแคว ทุ่งช้าง เชียงกลาง) จันทบุรี (เมือง ท่าใหม่ มะขาม) แม่ฮ่องสอน (ขุนยวม แม่ลาน้อย) และสตูล (เมือง) ตามลำดับ

รวมการระบาดใน 348 อำเภอ 71 จังหวัด ซึ่งประเมินความเสี่ยงพบมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภาค ส่วนปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่เสียชีวิตคือไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าเกินไป มีภาวะอ้วน ได้รับยากลุ่ม NSAIDs มาก่อน และมีโรคประจำตัว 

ร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นอกจากนี้ ต้องช่วยกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม ป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย 7 สถานที่ หรือ 7ร. ได้แก่ โรงเรือน (บ้าน) โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/รีสอร์ท โรงงาน/อุตสาหกรรม โรงธรรม (วัด/มัสยิด/ศาสนสถาน) และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการรวมตัวกันของประชาชน ถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และจากผลการสำรวจนั้น พบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสูงสุดในกลุ่มโรงเรียน

ออกข้อแนะนำป้องกันตัวเอง

กรมควบคุมโรค มีข้อแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอย ร่วมปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้