เปิดรายชื่อ 10 อันดับโรคติดเชื้อที่ WHO ประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตาม

04 ก.ค. 2566 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2566 | 07:12 น.

ศูนย์จีโนม เผย 10 รายชื่อโรคติดเชื้อสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลกที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจะมีอะไรบ้าง คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ 

ในปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทั่วโลกจะลดลงแล้วก็ตามแต่ก็ต้องเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายชื่อโรคติดเชื้อที่คาดการณ์ว่าจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลกที่ทางองค์การอนามัยโลกประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตาม โดย Center for Medical Genomics โพสต์ข้อความอันน่าสนใจนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

10  อันดับโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญที่ทางองค์การอนามัยโลกประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตาม รวมโรค X

รายชื่อโรคติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นไวรัส ที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2560 และมีการจัดลำดับความสำคัญครั้งสุดท้ายในปี 2561 โดยรายชื่อโรคที่มีความสำคัญในปัจจุบัน ณ เดือนกันยายน 2565 มีดังนี้

1.โควิด 19

2.ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก

3. โรคไวรัสอีโบลา

4. โรคไวรัสมาร์บวร์ก

5. ไข้ลาสซา

6.กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส)

7. กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)

8. เฮนิปาไวรัส แยกย่อยออกเป็น 7 ชนิด

  • ไวรัสนิปาห์ (NiV)
  • ไวรัสแลงยา (LayV)
  • ไวรัสเฮนดรา (HeV)
  • ซีดาร์ไวรัส (CedV)
  • ไวรัสโม่เจียง (MojV)
  • ไวรัสกานา (GhV)
  • ไวรัสเอ็ม 74 (M74V)

9. โรค Rift Valley fever

10. ซิก้า

11. โรค X ใช้เรียกโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นเชื้ออะไร

อย่างไรก็ดี จำนวนของไวรัสและจุลชีพในรายการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเมื่อมีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือโรคที่มีอยู่กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลกมากขึ้น

นอกจากนี้ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้ตอบคำถามคาใจถึงสาเหตุว่า ทำไมไวรัสไข้หวัดนกจึงไม่ถูกจัดให้อยู่ใน "รายชื่อไวรัส 10 อันดับแรก" ที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ที่ทางองค์การอนามัยโลกประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามไว้ ดังนี้

1.ไวรัสไข้หวัดนกยังไม่ทำให้มนุษย์ที่ติดเชื้อเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกบางรายเสียชีวิตแต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการปานกลาง

รายชื่อโรคติดต่อที่สำคัญขององค์การอนามัยโลกมุ่งเน้นไปที่โรคติดต่อที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยาต้านไวรัสในการรักษา

2.ไวรัสไข้หวัดนกยังไม่พบการแพร่ระหว่างคนสู่คนโดยง่าย ไข้หวัดนกส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับมูลหรือสารคัดหลั่งของนกที่ติดเชื้อไปสู่คน และมักจะยุติที่ผู้ป่วยรายนั้นเท่านั้น

ไม่ได้แพร่เชื้อจากคนสู่คนเหมือนกับไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โควิด-19 นอกจากนี้ไวรัสไข้หวัดนกยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อนได้ด้วย

3.มีวัคซีนและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีวัคซีนหลายชนิดที่ใช้ป้องกันไข้หวัดนกได้ นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดนกได้ ซึ่งหมายความว่า หากบุคคลใดติดเชื้อไข้หวัดนกจะมีการรักษาที่สามารถช่วยให้หายได้

4.ไวรัสไข้หวัดนกไม่แพร่ระบาดเหมือนกับโรคอื่น ๆ ที่อยู่ในรายชื่อขององค์การอนามัยโลก

5.ทั่วโลกมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกรวมทั้งวิธีป้องกัน

6. ทั่วโลกได้วางระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาและติดตามการระบาดของไข้หวัดนก

7.ประเทศต่าง ๆ มีแผนรับมือกับการระบาดของไข้หวัดนกเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ดี รายชื่อโรคติดเชื้อสำคัญขององค์การอนามัยโลกได้รับการอัปเดตเป็นประจำเมื่อมีข้อมูลใหม่ มีความเป็นไปได้ที่ "ไวรัสไข้หวัดนก" จะถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อโรคติดเชื้อสำคัญในอนาคต หากไวรัสไข้หวัดนกมีวิวัฒนาการและการกลายพันธุ์จนอาจกลายเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขของมนุษย์มากขึ้นได้