หลังจากที่สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกขยับเพิ่มสูงขึ้น ในวันนี้ (23 กรกฎาคม 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ได้การประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับทีมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาในพื้นที่ 30 อำเภอของ 18 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อเน้นย้ำให้ทีมงานในพื้นที่เร่งรัดการควบคุมป้องกันโรคในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ (21 ก.ค. - 18 ส.ค. 2566)
ทั้งนี้ จากการรายงานพบว่า มีพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่า เข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก ดังนี้
1.แม่ฮ่องสอน
2.เชียงใหม่
3.เชียงราย
4.น่าน
5.พะเยา
6.ตาก
7.เพชรบุรี
8.ชลบุรี
9.ระยอง
10.จันทบุรี
11.ตราด
12.อุบลราชธานี
13.กระบี่
14.ภูเก็ต
15.สงขลา
16.สตูล
17.นราธิวาส
18.กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 38 แห่งทั่วประเทศ ให้การสนับสนุนวิชาการและทรัพยากร เพื่อลดผู้ป่วยให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
กรมควบคุมโรคทำงานร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมการแพทย์มาระยะหนึ่งในการลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต และในภาวะใกล้วิกฤตตอนนี้ ได้ประสานขอความร่วมมือเพิ่มจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อระดมกำลังในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกอีกด้วย นพ.ธเรศกล่าว
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแต่ถ้ามีจำนวนผู้ป่วยสูงและต่อเนื่องและต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจตามที่ระบุในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ในการประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ
เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการดำเนินการตามมาตรา 34 แบบเดียวกับการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย เช่น โรคโควิด 19 ในระยะ 2 ปีแรก