ดื่มไวน์-กินชีสช่วยบำรุงสมอง ต้องทำอย่างไร เช็คเลยที่นี่

01 ส.ค. 2566 | 02:23 น.

ดื่มไวน์-กินชีสช่วยบำรุงสมอง ต้องทำอย่างไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์เผยรายงานในวารสารโรคอัลไซเมอร์ จากคณะทำงานนักวิทยาศาสตร์ที่รัฐไอโอวา ของสหรัฐฯ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางอาหารและโภชนาการของมนุษย์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความเกี่ยวคุณสมบัติไวน์แดง และชีสกับสมอง ว่า

ไวน์แดงกับชีส สมองเสื่อมชิดซ้าย

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า หากมีใครคนใดคนหนึ่งมีโรคสมองเสื่อมไม่ว่าจะเป็นพาร์กินสัน หรือโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ก็ตาม หันมากินผักผลไม้ กากใย ลดแป้ง ซึ่งรวมทั้งข้าว ข้าวเหนียว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ทั้งหลาย รวมทั้งเนื้อสัตว์ กินปลา กินถั่วได้

หลังจากได้ฟังคำอธิบาย ดูแต่ละคนหม่นหมอง คงคิดในใจว่า “แล้วจะอยู่ไปทำไม” และอย่างที่ตกลงกัน เราเอาความสุขเข้าว่า ถ้าทำตามตำราไม่ได้ ทำตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตรงเผงไม่ไหว ก็อย่าทำดีกว่า ถ้าอย่างนั้น ต้องหาอะไรที่เป็นความสุขที่กินได้บ้าง

และแล้วเปิดไปเจอข้อมูลรายงานในวารสารโรคอัลไซเมอร์ (Journal of Alzheimer’s Disease) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 จั่วหัวข้อไว้อย่างดิบดี ว่าทั้งไวน์แดง และเนยแข็ง ที่เรียกว่าชีส ช่วยลดการถดถอยของการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นทั้งตามอายุและในโรคได้ ว่าแล้วยังไม่ทันอ่านไส้ในของวารสารก็รีบวิ่งไปเปิดขวดไวน์ แถมมีชีส เก็บไว้ด้วย จากนั้นรินแก้วแรกแกล้มชีส แล้ววิ่งมาอ่านต่อ

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า รายงานที่ว่านี้เชื่อถือได้ (เชื่อไปแล้ว) มาจากคณะทำงานนักวิทยาศาสตร์ที่รัฐไอโอวา ของสหรัฐฯ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางอาหารและโภชนาการของมนุษย์ โดยเป็นการติดตาม กลุ่มคนจำนวน 1,787 ราย ทำการติดตาม 10 ปี ตั้งแต่อายุ 46 จนกระทั่งถึงเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษาและวิเคราะห์ที่อายุ 77 ปี

ทั้งนี้กลุ่มคนทั้งหมดนี้อยู่ในฐานข้อมูล UK Biobank data ที่รวบรวมข้อมูลของคนประมาณครึ่งล้านคน จากศูนย์การวิจัย 22 แห่งในประเทศอังกฤษที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006

ในระยะแรกของการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2006 ถึง 2010 ข้อมูลทางด้านพันธุกรรม ทางด้านความสมบูรณ์หรือความบกพร่องทางสมองและปัญญา รวมกระทั่งถึงวิถีการใช้ชีวิตและชนิดและประเภทของอาหารการกินต่างๆ ร่วมกับประมวลข้อมูลจากการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและปัสสาวะ และยังสาวโยงถึงประวัติการเจ็บป่วยไข้ของคนในครอบครัวทั้งหมดด้วย

หลังจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงแรกที่เรียกโดยสังเขปว่า Fluid Intelligence test (FIT) การเก็บข้อมูลจะทำต่อในอีกสองช่วงระยะได้แก่ในปี 2012 ถึง 2013 และช่วงปี 2015 ถึง 2016

ข้อมูลที่เก็บในเรื่องของชนิดของอาหารและประเภทยังรวมถึงชนิดและปริมาณของแอลกอฮอล์ที่บริโภคและอาหารทั้งผักผลไม้สดหรือแห้ง สลัดหรือผักที่ปรุงสุก ปลาชนิดไขมันเยอะหรือไม่ และชนิดของเนื้อที่มีการปรุงปรับรสหรือให้เก็บไว้ได้นาน ไก่ เนื้อวัว แกะ หมู ขนมปัง ซีเรียล เนยแข็ง ชา กาแฟ เบียร์ ไวน์ขาวหรือไวน์แดงหรือแชมเปญ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ บุหรี่ เป็นต้น

และนำมาประกบกับข้อมูลทางด้านพันธุกรรมสมองเสื่อม allele variation on rs429358 and rs7412 APOE ยังได้ทำการแยกแยะว่ามีชนิดใดบ้าง ของ ยีนสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ epsilon 4 allele (e2/e4, 3/4 และชนิด 4/4) หรือไม่มีเลย (2/2, 2/3, 3/3)

หมอธีระวัฒน์ บอกต่อไปอีกว่า ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตามเก็บมาทั้งสามระยะ พบว่าตัวร้ายที่กระทบต่อสมองและสุขภาพ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประวัติครอบครัวของสมองเสื่อม หรือมี ไม่มีพันธุกรรมของสมองเสื่อมก็ตาม คือเกลือ ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าเกลืออาจจะออกมาในรูปของความเค็ม หรือในรูปของสารปรุงรสต่างๆ
 

ส่วนของอาหารที่จัดว่าได้ประโยชน์สำหรับสมองได้แก่การกินเนื้อแกะ โดยที่ปริมาณและความถี่ที่ไม่ได้บ่อย ประมาณสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อแกะน่าจะมีปริมาณของกรดไขมันชนิดเดียวกับที่มีในน้ำมันมะกอก คือ oleic acid เป็นจำนวนมากและนอกจากนั้นยังมีสาร taurine carnosine coenzyme Q10 และ creatine

ในส่วนของการดื่มแอลกอฮอล์นั้น แม้ว่าคำแนะนำทั่วไปของรัฐบาลจะผ่อนผันหรือยินยอมให้ดื่มได้วันละหนึ่งถึงสองแก้วโดยใช้แก้วมาตรฐานของเครื่องดื่มแต่ละชนิดได้ก็ไม่ชัดเจนว่าดื่มอะไรจะเป็นประโยชน์สำหรับสมองมากกว่ากัน

อย่างไรก็ดี คำแนะนำของประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่องอาหารและเครื่องดื่มในปี 2020 กดลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปให้ไม่มากกว่าหนึ่งแก้วต่อวัน โดยเล็งเห็นโอกาสที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเหล้า และในขณะเดียวกันไม่ส่งเสริมให้มีการดื่มหนักสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองวันซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่า

การศึกษานี้พบว่าการดื่มทุกวันจะมีประโยชน์ต่อสมองมากกว่าการไม่ดื่มเลยหรือดื่มสัปดาห์ละหนึ่งครั้งหรือเดือนละครั้ง และยังพบว่าการดื่มไวน์แดงจะได้ประโยชน์มากที่สุด

ในตัวอย่างคนที่ติดตามเหล่านี้ มีที่ดื่มไวน์ถึงวันละหนึ่งขวดต่อวันด้วยซ้ำ โดยทำการขจัดตัวแปรอื่นๆที่ส่งผลในการวิเคราะห์ข้อสรุปต่างๆ แต่แน่นอนไม่ได้หมายความว่าส่งเสริมให้มีการดื่มในปริมาณมากขนาดนั้น

อย่างไรก็ตาม ผลของรายงานฉบับนี้น่าจะเสริมเติมเต็มได้หลายประการ อย่างแรกกำปั้นทุบดินก็คือ “ความสุข” ที่ไม่มากจนเกินเลยไปและอาจจะทำให้ปฏิสัมพันธ์ในระหว่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนนุ่มนวลขึ้น 

และอย่างที่สองคือชนิดของแอลกอฮอล์น่าจะนำมาพิจารณาด้วยรวมกระทั่งถึงว่า จะดื่มนานๆครั้ง หรือทุกวัน ซึ่งทุกวันน่าจะดีกว่า

ในขณะเดียวกัน เป็นที่ต้องรับทราบว่าการควบรวมด้วยอาหารที่ถ้าทำได้ ลดเนื้อสัตว์ เนื้อแดง เนื้อที่ผ่านกระบวนการต่างๆ และในประการสุดท้ายคือขนาดและปริมาณของเกลือต้องลดถอยลงเท่าที่จะทำได้ ร่วมกับการกินชีสบ่อยๆ แกล้มไวน์แดง และมากผักผลไม้กากใย

แน่นอนว่าคนไทย วิธีการกิน อาจจะเข้ากันไม่ได้กับรายงานนี้ แต่เป็นเครื่องแสดงว่า ในการศึกษาวิจัยในประเทศไทยสำหรับคนไทยต่อจากนี้ 

คงต้องให้ความสนใจกับอาหารแบบไทยๆ สมุนไพร และจะมีข้าวหมัก หรืออื่นๆ ที่ปู่ ย่า ตา ทวด บริโภค หรืออะไรทำนองนี้อีก ในอนาคตอันใกล้อาหารไทย น่าจะกลายเป็นอาหารสุขภาพโลกที่ดีต่อทั้งร่างกายและสมองได้ด้วยซ้ำ