นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส.ได้ดำเนินการร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ริเริ่มโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค พัฒนาองค์ความรู้ทางโภชนาการ แนะนำการเลือกอาหารใส่บาตรที่ถูกสุขอนามัยและถูกต้องตามหลักโภชนาการ
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดโรค NCDs พร้อมพัฒนาวัดในฐานะองค์กรและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนพระสงฆ์เป็นแกนนำความรู้ในการดูแลสุขภาวะตนเอง และเผยแพร่แก่ชุมชนและสังคมในวงกว้าง
"เทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนตั้งมั่นร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนา ถวายเป็นพุทธบูชา ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ ถือศีล ฟังธรรม ตามวิถีไทยวิถีพุทธ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ดี การทำบุญใส่บาตรมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพของพระสงฆ์ สามเณร"
ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายกลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์ พบว่า พระสงฆ์มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนถึง 48% สามเณร 22% เสี่ยงอาพาธด้วยโรค NCDs สูง
โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่ถวายพระสงฆ์มีโปรตีนต่ำ ผักน้อย อีกทั้งยังเป็นของทอดที่มีไขมันสูง พระสงฆ์ได้รับน้ำตาลจากการฉันน้ำปานะสูงถึง 20 ช้อนชา/วัน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด คือ 6 ช้อนชา/วัน
ปัจจัยสำคัญช่วยสงฆ์ไทยห่างไกลโรค เริ่มจากโภชนาการ สูตร “4 เสริม 2 ลด” ประกอบด้วย
1. เสริมข้าวกล้องที่มีเส้นใยอาหารเยอะ 2. เสริมเนื้อปลา 3. เสริมผักเพิ่มใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ 4. เสริมนมพร่องมันเนย พร้อมลด 1. ลดหวาน 2. ลดเค็ม
นอกจากองค์ความรู้ด้านโภชนาการ ปรับพฤติกรรมของญาติโยมใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ หลีกเลี่ยงการถวายอาหารรสจัด ลดหวาน-มัน-เค็ม สิ่งสำคัญคือ กิจกรรมสำหรับพระสงฆ์ช่วยพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน คือ การเคลื่อนไหวร่างกายให้เพียงพอ เช่น เดินบิณฑบาตให้มากขึ้น เดินจงกรม เดินรอบพระอุโบสถ กวาดลานวัด ล้วนเป็นกิริยาที่สำรวมที่พระสงฆ์ สามเณร ทำได้ทั้งสิ้น