เชื้อไวรัส HPV ไม่ใช่แค่มะเร็งปากมดลูก

17 ส.ค. 2566 | 02:50 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 02:53 น.

เมื่อพูดถึงเชื้อไวรัส HPV หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นเชื้อไวรัสที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และนำมาสู่มะเร็งปากมดลูก แต่แท้จริงแล้วยังสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งอื่นๆ ได้อีกด้วย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยได้มีการจัดทำโครงการ HPV Pride Month No HPV No Limit #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มักจะมีการจัดแคมเปญเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยเป็นการจัดโครงการรณรงค์ร่วมกับเป็นปีที่ 7 แล้ว

 

มะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งอันดับ 2 ที่สตรีไทยเป็นมากที่สุด

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิริวรรณ ตั้งจิตกมล ผู้รั้งนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยเผยในงานสัมนา HPV Pride Month No HPV No Limit ว่า ทางสมาคมได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกมาตลอด เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกในไทยยังคงครองอัตราการเกิดรองจากมะเร็งที่พบในสตรีไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งอย่างมะเร็งเต้านม และในหนึ่งปีจะมีสตรีประมาณ 9,000 คนเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนั้นเสียชีวิต 
 

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส HPV 

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เผยว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัส HPV(Human Papilloma Virus) ไม่ใช่เฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ และทุกเพศทุกวัย ซึ่งหมายความว่า ในเพศชายก็สามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นเดียวกัน หากไม่มีการป้องกันหรือการคัดกรองที่ดี

นั่นเป็นสาเหตุที่ทางสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยและทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาในช่วง Pride Month เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รู้เท่าทันการเกิดโรค 

 

เชื้อไวรัส HPV สามารถติดเชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนังได้

นอกจากเชื้อไวรัส HPV จะติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดจากการสัมผัสหรือการเสียดสีกันระหว่างผิวหนัง(Skin-to-skin) ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ช่องทวารหนัก หรือแม้แต่ทางช่องปาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่บอบบาง มีเพียงเยื่อเมือก ไม่มีผิวหนังห่อหุ้ม และหากตรงบริเวณนั้นเกิดรอยแผลหรือมีเลือดออกก็อาจเป็นช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงเชื้อไวรัส HPV ด้วย 

 

โรคมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV 

  • โรคมะเร็งปากมดลูก

- เชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% 

  • โรคมะเร็งช่องคลอด
  • โรคมะเร็งปากช่องคลอด 
  • โรคมะเร็งช่องปากและลำคอ

- เชื้อไวรัส HPV สามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก(Oral Sex) 

  • โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย

- ติดเชื้อได้ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ และการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก(Oral Sex)

  • โรคมะเร็งทวารหนัก  

- เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องทวารหนัก

 

เชื้อไวรัส HPV มีเชื้ออยู่ด้วยกัน 100 กว่าสายพันธ์ุ

เชื้อไวรัส HPV มีเชื้อที่พบเจอได้บ่อยๆ ประมาณ 15-16 สายพันธุ์ จาก 100 กว่าสายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรค และสามารถพัฒนารอยโรคไปสู่มะเร็งชนิดต่างๆ ได้ในอนาคต รวมถึงเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งจะคงอยู่ในร่างกายกว่า 10 ปี ถึงจะแสดงอาการในระยะที่ลุกลามแล้ว ทำให้ผู้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้ออาจไปแพร่เชื้อ HPV สู่ผู้อื่นโดยที่ไม่รู้ตัว

 

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้ข้อมูลว่า
จำนวน 8 ใน 10 คนเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย จะพบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง 2-5 เท่า

 

ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัส HPV ได้เอง หากมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดี
การติดเชื้อไวรัส HPV โดยส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันร่างกายของเราจะสามารถกำจัดออกไปได้เอง แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเองได้ และจะพัฒนาเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือมะเร็งต่างๆ ได้เช่นกัน

  • โรคหูดหงอนไก่(Genital Warts) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่จะมีลักษณะอาการเป็นตุ่มหรือติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนของไก่ยื่นออกมาจากผิวหนัง และจะเพิ่มจำนวนได้ดีในบริเวณที่มีการอับชื้น อบอ้าว ทั้งยังสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเกิดจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำอย่างสายพันธุ์ 6 และ 11 

 

การติดเชื้อไวรัส HPV 90% สามารถเป็นแล้วหายได้ใน 2 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยในงานสัมนา HPV Pride Month No HPV No Limit ว่า จากข้อมูล เชื้อ HPV ติดแล้วสามารถหายได้เหมือนเป็นหวัด โดย 90% จะติดและหายได้ใน 2 ปี และการติดเชื้อ HPV ไม่ได้แปลว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอัตราการเกิดมะเร็งใน 100 คน จะมีโอกาสเป็นไม่ถึง 1 คน เพราะส่วนใหญ่เชื้อจะหายไปแล้ว  

แต่เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV ใช้เวลาในการทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกหรืออวัยวะเพศที่เป็นมะเร็งปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ภายในระยะเวลา 5-10 ปี ทำให้ยังมีเวลาในการตรวจคัดกรองและป้องกันได้อยู่ 

 

วิธีการหลีกเลี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV 

  • การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV 

- ควรฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิต้านทานป้องกันมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV โดยสามารถเริ่มฉีดป้องกันได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่อายุ 9 ปี จนถึงอายุ 45 ปี 
- การฉีดวัคซีนจะป้องกันได้ดีที่สุดเมื่อเราฉีดก่อนที่จะได้รับการติดเชื้อหรือมีเพศสัมพันธ์ แต่ในกรณีสำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ เพียงแต่ระดับการป้องกันอาจไม่ 100%  
- การฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม

  • การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ และไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน

  • การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

- ทั้งเพศชายและเพศหญิงสามารถทำการตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาล โดยแนะนำให้เข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ และในผู้หญิงสามารถทำการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน ด้วยชุดตรวจ HPV Self-Collected Test ที่ในไทยเริ่มมีแล้ว และทำการส่งผลมาตรวจที่โรงพยาบาลผ่านไปรษณีย์ได้เลย แต่ยังไม่แนะนำให้ผู้ชายตรวจเอง

 

เราสามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้ตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
เชื้อไวรัส HPV สามารถติดได้ตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์ในครั้งแรก และยังคงฝังตัวอยู่ในร่างกายได้เป็นหลัก 5 - 10 ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงอาการ หรือกลายเป็นมะเร็งเมื่อไหร่ รวมถึงขึ้นอยู่กับโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหรือไม่เท่านั้นเอง เพราะแม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลานาน แต่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ใหม่ก็มีความเสี่ยงที่เชื้อจะถูกกระตุ้นขึ้นมาได้อีก

ดังนั้น ทุกคนควรปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ในอนาคต

 

ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV และการตรวจคัดกรองต่างๆได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. รวมถึงสามารถนัดหมายผ่าน Line Official ได้ที่ @chulabhornhospital 
 

เชื้อไวรัส HPV ไม่ใช่แค่มะเร็งปากมดลูก แหล่งที่มา :  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 

สามารถเช็กจุดลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เพิ่มเติมได้ที่