ในแต่ละปีหลังวันลอยกระทงผ่านพ้นไปแล้ว ซากกระทงจำนวนมากที่หลงเหลืออยู่คือสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนทำให้โลกร้อน
จากสถิติของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2566 เฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 639,828 ใบ แบ่งเป็น กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.7 กระทงจากโฟม จำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ สัดส่วนของกระทงโฟมลดลงจากปี 2565
ขณะที่ผลสำรวจอนามัยโพลของ กรมอนามัย ปี 2566 ผู้ตอบแบบสำรวจ 473 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 85.8 มีแผนจะไปลอยกระทง โดยร้อยละ 39.7 เลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ เช่น ใบตอง กาบกล้วย ใบไม้ ดอกไม้ ในขณะที่ร้อยละ 24.3 เลือกใช้การลอยกระทงออนไลน์ และร้อยละ 18.6 ลอยกระทง 1 ใบต่อ 1 ครอบครัว
สำหรับประเพณีลอยกระทง เทศกาลลอยกระทง 2567 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 นี้ นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เชิญชวนให้ประชาชนร่วมสืบสานเทศกาลลอยกระทงของไทยด้วยการ ลอยกระทงรักษ์โลกแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถทำได้ด้วย 5 วิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง
2. เลือกใช้วัสดุย่อยสลายได้ไว มีความสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็งกระทงโคนไอศกรีม
3. เลือกกระทงขนาดเล็ก ใช้วัสดุน้อย ช่วยลดปริมาณขยะ
4. ลอยกระทงร่วมกัน เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี ช่วยลดขยะและประหยัดค่าใช้จ่าย
5. ลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งสะดวกปลอดภัย และลดปริมาณขยะแบบแท้จริง
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวช่วงเทศกาลลอยกระทงที่มีคนจำนวนมากส่งผลให้พื้นที่คับแคบหรือแออัดมากเกินไปควรระวังภาวะอับอากาศ ทำให้ขาดอากาศหายใจและอาจเสียชีวิตได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก
รวมถึงอันตรายจากการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ ขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ห้ามเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟโดยลำพังเพราะหากเล่นอย่างไม่ระมัดระวังอาจจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดใส่มือจนได้รับการบาดเจ็บได้ รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่เร่งกระบวนการผลิตพลุและดอกไม้ไฟให้ทันในช่วงเทศกาลลอยกระทงอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดไฟไหม้หรือระเบิดเป็นอันตรายแก่ชีวิตของตนเองและประชาชนโดยรอบได้
ดังนั้น กรมอนามัย จึงขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น สำรวจ ตรวจตรา ควบคุม กำกับให้สถานประกอบกิจการผลิตดอกไม้ไฟทุกแห่งในพื้นที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ผู้ประกอบการประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องและมีกระบวนการผลิตถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย เช่น มีอุปกรณ์ดับเพลิงประจำสถานประกอบการ
มีป้ายเตือนห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน การจัดเก็บวัตถุดิบในการผลิตที่ปลอดภัยไม่มีความร้อนและประกายไฟ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ หรือประกายไฟ