"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" ถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวอย่างมาก โดยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย พบได้ลำดับ 5 ในเพศชาย และลำดับ 9 ในเพศหญิง พบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด พบได้ประมาณ 5,600 คนต่อปี
ทั้งนี้ มะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่ รักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง
นอกจากนี้ เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น
แพทย์หญิงศศินิภา ตรีทิเพนทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคเลือด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ต่อมน้ำเหลือง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวปริมาณมาก พบได้ทั่วทั้งร่างกายหลายร้อยต่อม ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน คอยต่อสู้และปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม
โดยทั่วไปมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดี หากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งสามารถหายขาดได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้อาจขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ
สาเหตุของมะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยด์ (lymphoid) โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อทั้ง virus เช่น HIV, HCV, EBV การติดเชื้อ bacteria ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง พันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน ส่วนใหญ่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาพุ่งเป้า การฉายแสงในบางกรณี และการปลูกถ่ายไขกระดูกในกรณีที่กลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาใหม่สำหรับกรณีที่กลับเป็นซ้ำ คือ การใช้เซลล์บำบัด (CAR-T cell) ซึ่งยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยในประเทศไทย
"เกร็ดการดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด คือ การป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายและรุนแรงเนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ดังนั้นจึงแนะนำให้ รับประทานอาหารทำใหม่ สุก สะอาดให้ครบห้าหมู่ และเลือกรับประทานผลไม้เปลือกหนา หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนที่แออัด เสี่ยงต่อการรับเชื้อ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกเพราะช่วงที่รับยาเคมีบำบัดอาจมีเกล็ดเลือดต่ำซึ่งจะทำให้เลือดออกง่าย หากมีไข้ให้รีบไปโรงพยาบาล"
สำหรับการป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง