ข่าวดีของคนรักสัตว์ เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 กันยายนนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาณฯ เชิญชวนประชาชนนำสัตว์เลี้ยง สุนัข และแมว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรี ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ ทั้ง 5 แห่ง ได้ตั้งแต่วันนี้ - 30 กันยายน 2566
1.โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เปิดลงทะเบียน ทุกวันทำการในวันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น. ยกเว้นวันศุกร์ 8.30-11.00 น. สอบถามโทร. 02-7971900 กด 9
2.โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
3.โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนองโพ
4.โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน
5.โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ทิพย์พิมาน
รู้จัก โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ "เรบีส์" (Rabies virus) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์ เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมองและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการอย่างรวดเร็วจนทำให้เสียชีวิตได้ซึ่งปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูง
การติดโรคและสัตว์อื่นที่เป็นพาหะ
เชื้อไวรัสเรบีส์ ปนอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อและติดต่อสู่คนผ่านทางบาดแผลหรือเนื้อเยื่ออ่อน
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การถูกสุนัขกัด อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไม่จำเป็นต้องโดนกัดเพียงแค่ถูกสัตว์เลีย ข่วน หรือถูกน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าบาดแผล เข้าตา จมูก ปาก ทวารหนัก หรือแม้แต่อวัยวะสืบพันธุ์ที่แม้จะไม่มีบาดแผลก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ นอกจากสุนัขแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ ไม่ว่าจะเป็น แมว หนู กระต่าย กระรอก กระแต ลิง ชะนี วัว ควาย และค้างคาว เป็นต้น โดยส่งต่อเชื้อผ่านทางน้ำลายด้วยการกัด เลีย หรือน้ำลายกระเด็นโดนได้เช่นเดียวกับสุนัข
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน บางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่มต้น
ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระจาย นอนไม่หลับ บางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรค ระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
ระยะที่มีอาการทางสมอง
ผู้ป่วยมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
ระยะท้าย
ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น