สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของไทยน่าเป็นห่วง นับตั้งแต่เข้าฤดูฝนซึ่งตกกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่อันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะในการนำเชื้อไวรัสสู่คน
กรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 16 สิงหาคม 2566) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วรวม 65,552 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 99.05 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย
ในขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม มี อสม. รายงานผลสำรวจลูกน้ำยุงลาย ผ่านแอปพลิเคชัน SMART อสม. แล้ว 907,342 ครั้ง สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้น นับเป็นอีกโรคที่อันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่
ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับช่วงที่ประเทศไทยมีฝนตกอยู่ในช่วงนี้ เราพาไปทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก พร้อมทบทวนอาการของโรค วิธีการติดต่อ และที่ขาดไม่ได้ คือ วิธีการป้องกันให้ห่างไกลจากโรคนี้กัน บอกเลยว่า ทำได้ไม่ยุ่งยาก
ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก
เกิดจากไวรัสเดงกีซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อตรั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อค หรือเสียชีวิต โรคนี้พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
อาการของผู้ติดเชื้อ
ในการติดเชื้อไวรัสแดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) จะไม่แสดงอาการ ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สองโดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออก ซึ้งมีอาการสำคัญแบ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ
1.ระยะไข้
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน
2.ระยะช็อค
ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง
3.ระยะพักฟื้น
อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว
การติดต่อของโรคไข้เลือดออก
โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย (Aedes aegypt ) เป็นพาหะที่สำคัญ ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในยุง หลังจากนั้นยุงจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวตลอดอายุของมัน (ประมาณ 1-2 เดือน) และสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกมันกัดได้
ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้าน มักจะกัดเวลากลางวัน แหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำใสที่ขังอยู่ตามภาชนะเก็บน้ำต่างๆ เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ กระถาง ยางรถ เป็นต้น
โดยทั่วไปโรคนี้จะพบมากในฤดูฝนเนื่องจากเด็กมักอยู่ในบ้านมากกว่าฤดูอื่นๆ และยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝนแต่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ อาจพบโรคนี้ได้ตลอดปี
วิธีการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ข้อมูล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน