ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น ควัน ปัญหามลภาวะในอากาศเพื่อการดูแลสุขภาพมีมากยิ่งขึ้น ล่าสุดมีการเปิดตัว Mobile application "Life Dee" เพื่อช่วยคนไทยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นท่ามกลางมลภาวะฝุ่นควันในปัจจุบัน โดย นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกันเปิดตัว "Life Dee" แอปพลิเคชันล่าสุดจากฝีมือคนไทย
นพ.อรรถพล รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัย ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ร่วมกับ GISTDA หน่วยงานที่มีความสำคัญในการผลิตข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำหรับการศึกษาวิจัย คาดการณ์ เตรียมการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีความรู้และทักษะอย่างถูกต้องและเท่าทัน จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่า ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ผ่านมา
กรมอนามัยและหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย การวางแผน และการตัดสินใจจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับพื้นที่
แอปฯ Life Dee คือ อะไร
Application "Life Dee" ถือเป็นความร่วมมือล่าสุดระหว่างกรมอนามัย และ GISTDA ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีฟังก์ชันการดูแลและป้องกันสุขภาพที่หลากหลาย ดังนี้
1.ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 PM10 ข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิ
2.ข้อมูลสุขภาพ เช่น คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับประชาชน แบบประเมินอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่น
3.ห้องปลอดฝุ่น แผนที่สถานบริการสาธารณสุขที่สามารถค้นหาเส้นทางการไปใช้บริการได้
4.สาระความรู้เกี่ยวกับฝุ่นและสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้น และวางแผนกิจกรรมประจำวันได้
สำหรับ Application "Life Dee" จะแจ้งเตือนเมื่อฝุ่น PM2.5 มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามค่ามาตรฐานใหม่ของประเทศไทยซึ่งถือเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่านทางมือถือ และ Smart watch ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังประสบปัญหาด้านมลพิษทางอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนเมือง
แอปฯ "Life Dee" ทำอะไรได้บ้าง
ทั้งนี้ กรมอนามัยสามารถนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนได้อีกด้วย และหวังว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับข้อมูลด้านสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป