“แบคทีเรียกินเนื้อ” ไม่ได้มีเฉพาะใน “หอยนางรมดิบ”

26 ก.ย. 2566 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2566 | 10:02 น.

เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ไม่ได้มีแค่ในหอยนางรมดิบ อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งทางผิวหนัง กลไกการทำงานของร่างกาย และทางกระแสเลือด อีกทั้งยังอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

จากกรณีล่าสุด ที่มีหนุ่มชาวเท็กซัสอายุราวๆ 30 ปี เสียชีวิตหลังจากที่บริโภคหอยนางรมดิบปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ รวมถึงทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC เองก็ตรวจพบชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ที่ชอบบริโภคอาหารทะเลดิบไม่น้อย

 

"เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ" คืออะไร?

เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เชื้อแบคทีเรียวิบริโอ (Vibrio vulnificus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ และพบอัตราการป่วยเสียชีวิตจากเชื้อนี้สูงถึง 75% ซึ่งธรรมชาติของเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย

รวมถึงชอบอาศัยอยู่กับสัตว์น้ำอย่าง ปลา หอย และสัตว์น้ำจำพวกที่มีเปลือกหุ้มตัวเป็นปล้อง อาทิ กุ้ง กั้ง และปู มากกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ 

โดยการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียวิบริโอจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิของน้ำทะเล ถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลต่ำกว่า 15°C  มักจะตรวจไม่พบเชื้อ แต่เชื้อก็ยังสามารถอาศัยในตะกอนใต้พื้นน้ำได้อยู่

และเมื่อถึงฤดูร้อน หรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดในทะเลจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้นตามไปด้วย รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ หรือเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อนี้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดการติด "เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ"

  • ทางการรับประทานอาหารทะเลดิบหรืออาหารทะเลที่ปรุงไม่สุก 

การรับประทานอาหารทะเลดิบทำให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และความดันโลหิตต่ำ มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออก เป็นลม หรือช็อกหมดสติ รวมถึงจะเริ่มมีจ้ำเลือดตามลำตัวและปลายแขนขา

ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ รวมถึงผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง  โรคเลือด และเบาหวาน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

  • ทางการว่ายน้ำหรือดำน้ำ

เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียกินเนื้ออาศัยอยู่ทั้งในสัตว์ทะเลและในน้ำ ทำให้มีการกระจายตัวอยู่ในทะเล ซึ่งหากเผลอรับประทานน้ำทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ หรือได้รับบาดแผลขณะลงไปว่ายน้ำ หรือลงน้ำขณะมีบาดแผลเปิดก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ 

  • ทางบาดแผลตามร่างกาย

การติดเชื้อจากบาดแผลสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดเนื้อเยื่ออักเสบ ผิวหนังจะมีอาการบวม ร้อนแดง เจ็บปวด และอาจกลายเป็นตุ่มที่มีเลือดปน รวมถึงอาจเกิดอาการเนื้อเยื่ออ่อนใต้ผิวหนังเน่าจากการติดเชื้อที่บาดแผล ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตถึง 50% 

 

การเติบโตและแพร่กระจายของ "เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ"

อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ มักปรากฏหลังจากได้รับเชื้อเข้าไป 10-12 ชั่วโมง ในบางรายจะแสดงอาการภายใน 4-96 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเป็นกรดหรือด่างภายในระบบทางเดินอาหาร

และเชื้อแบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัวทุกๆ 10-15 นาทีในอุณหภูมิ 37°C ทำให้เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจึงเติบโตและกระจายตัวเพิ่มขึ้น

วิธีการป้องกัน “แบคทีเรียกินเนื้อคน”

  • งดรับประทานอาหารทะเลดิบทุกประเภท เปลี่ยนไปรับประทานอาหารทะเลที่ปรุงสุกและยังร้อนๆ อยู่
  • ควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน เพราะเชื้อสามารถแพร่จากอาหารดิบไปยังอาหารสุกได้
  • แยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหารหรือทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้กับอาหารทะเลก่อนนำไปใช้กับอาหารชนิดอื่นๆ 
  • หากในช่วงนั้นมีบาดแผลตามร่างกาย ให้หลีกเลี่ยงการลงน้ำทะเลไปก่อน เพราะการติดเชื้อจากบาดแผลก็อันตรายและก่อให้เกิดโลหิตเป็นพิษได้เหมือนกัน

 

จะเห็นว่านอกจากในหอยนางรม เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อยังอาศัยอยู่ในอาหารทะเลชนิดอื่นๆ ในน้ำทะเลและในน้ำกร่อยได้อีกด้วย อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียวิบริโอเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากรับประทานอาหารทะเลดิบ หรือทำกิจกรรมทางน้ำในทะเลแล้ว อย่าลืมสังเกตอาการของตัวเอง และรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ

 

แหล่งที่มา : Food Network Solution , สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข