"ชลน่าน"สั่งสพฉ. เปิดทีม Sky Doctor ทั่วไทยใน 100 วันหนุนท่องเที่ยว 

27 ก.ย. 2566 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 07:05 น.

"หมอชลน่าน" เดินหน้าแผน Quick Win สั่ง สพฉ. เปิดทีม Sky Doctor ทั่วประเทศภายใน 100 วันหวังเพิ่มความรวดเร็วการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินพร้อมรองรับการท่องเที่ยวปีใหม่นี้

การจัดตั้งทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Sky Doctor ให้มีครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ เป็น 1 ใน 13 แผน Quick Win 13 ประเด็นที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วันของกระทรวงสาธารณสุข

ล่าสุด นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ครั้งที่ 9/2566 ประเด็นสำคัญในการประชุมวันนี้โดยมอบนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการจัดตั้งทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Sky Doctor ให้มีครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ การเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็วซึ่งหลายพื้นที่ของประเทศมีปัญหาด้านการเข้าถึงตัวผู้ป่วยฉุกเฉินอันเนื่องมาจากเส้นทางที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนเกาะในทะเล หรือในเมืองที่การจราจรติดขัด การมีระบบ Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วย จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้

ระบบ Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้ทีม Sky Doctor อยู่บ้างในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคใต้ แต่ได้มอบนโยบายให้ทาง สพฉ. ไปดำเนินการพัฒนาและจัดตั้งทีมให้มีครบทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 100 วัน เพื่อให้ทันรองรับเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงและอาจมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวยังที่ต่าง ๆ ของประเทศ หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะถือเป็นของขวัญปีใหม่อย่างหนึ่งที่จะมอบให้ประชาชนคนไทย

ทีม Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วยในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางและเข้าถึง

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า Thai Sky Doctor ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดย สพฉ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดให้มีบริการการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านอากาศยาน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยใช้อากาศยานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปฏิบัติการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการลาเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Services Course : Basic HEMS)

ทั้งนี้ จากสถิติการออกปฏิบัติการในช่วง พ.ศ. 2564 - 2566 มีจำนวน 401 ครั้ง เป็นการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวน 398 ครั้ง และลำเลียงอวัยวะ จำนวน 3 ครั้ง มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ด้านอากาศยานที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 9 หน่วย เป็นหน่วยที่อยู่ในเขตสุขภาพ 3 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 11

 

ทีม Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วยในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางและเข้าถึง

อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ สพฉ. มีแผนที่จะเร่งดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร Basic HEMS ให้กับทีมแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ ในทุกเขตสุขภาพ รวมถึงประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มทรัพยากร และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติการการลำเลียงทางอากาศ คาดว่า จะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้

ทีม Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วยในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางและเข้าถึง