เช็คสัญญาณเตือน "โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม"  

06 พ.ย. 2566 | 20:15 น.

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ชี้ ปวดกระดูกคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ร้าวลงไปที่แขน มีอาการชา-อ่อนแรงพึงระวัง เป็นสัญญาณเตือนของ โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม กดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังได้

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือมีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจเกิดจากอุบัติเหตุ การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรงซึ่งส่งผลให้ชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังบางส่วนเคลื่อนหลุดออกมากดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังได้

อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุไม่มากแต่หากใส่ใจสุขภาพคอ ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงและหมั่นบริหารกล้ามเนื้อคออยู่เสมอก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายเกี่ยวกับอาการของโรคนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาทนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 

1.อาการของการกดทับเส้นประสาท

  • ปวดต้นคอ ร้าวไปตามต้นแขน
  • แขนหรือมือตามตำแหน่งที่เส้นประสาทเส้นใดถูกกด
  • ผู้ที่มีอาการมากขึ้น อาจมีอาการอ่อนแรงของแขน หรือมือได้

2.อาการของการกดไขสันหลัง

  • ขาอ่อนแรง เดินลำบาก
  • เวลาเดินจะมีอาการขาตึง ๆ
  • ชาตามลำตัว และลามไปถึงขาทั้ง 2 ข้างได้
  • บางรายมีอาการมืออ่อนแรงร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง
  • อาการปวดคออาจจะมีหรือไม่มีก็ได้

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวถึงการรักษาอาการนี้ว่า เริ่มจากการให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันในผู้ป่วยบางรายที่ปวดมากอาจจำเป็นต้องใช้เฝือกอ่อนพยุงคอ (soft collar) เพื่อช่วยลดการขยับคอ ซึ่งทำให้หายปวดได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นมากหรือหายได้ แต่ถ้าหากอาการปวดยังไม่หายหลังจากการรักษา 6-8 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือมือร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเพื่อลดการกดทับเส้นประสาท

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอกดทับไขสันหลัง เนื่องจากไขสันหลังที่ถูกกดเป็นเวลานานจนมีอาการอ่อนแรงของขา หรือในบางรายมีการอ่อนแรงของมือร่วมด้วย หากไม่ได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่กดทับ ไขสันหลังออก ผู้ป่วยอาจมีภาวะพิการหรืออัมพาตถาวรได้ ดังนั้น ประสาทศัลยแพทย์จะแนะนำผ่าตัดเกือบทุกราย

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา

ส่วนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทางด้านหน้า (ACDF) เป็นวิธีที่ประสาทศัลยแพทย์นิยมและได้ผลดีที่สุด โดยการเอาหมอนรองกระดูกที่เป็นกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังออก หลังจากนั้นประสาทศัลยแพทย์จะเสริมช่องว่างที่เกิดขึ้น โดยใช้ชิ้นกระดูกที่ได้มาจากการตัดกระดูกบริเวณสะโพกของผู้ป่วย หรือใช้วัสดุค้ำแทนที่หมอนรองกระดูก เพื่อเชื่อมกระดูกชิ้นบนและล่างให้กลายเป็นกระดูกชิ้นเดียวกัน

ในกรณีที่มีปัญหาหลายระดับและจำเป็นต้องผ่าตัดมากกว่า 1-2 ช่อง จะมีการยึดบริเวณด้านหน้ากระดูกสันหลังด้วยแผ่นโลหะและสกรู เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุที่ใส่ไว้แต่ละช่องเกิดการเลื่อนหลุดออกมาหลังการผ่าตัด วัสดุที่ใส่ไว้ในแต่ละระดับจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 เดือน เพื่อเชื่อมต่อเป็นข้อเดียวกัน

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุที่เลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูกที่สามารถทำให้ขยับก้มเงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ เรียกว่า หมอนรองกระดูกเทียม (artificial disc replacement) ซึ่งประสาทศัลยแพทย์ ในประเทศไทยได้ทำการรักษามานานกว่า 10 ปี แต่ด้วยวัสดุมีราคาแพงจึงยังไม่เป็นที่นิยม

เช็คสัญญาณเตือน \"โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม\"  

การป้องกัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงทำพฤติกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน ดังนี้

  • ไม่ควรก้มหน้านานเกินไป ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 30 นาที ด้วยการเงยหน้าประมาณ 3-5 นาที
  • ไม่ควรก้ม ๆ เงย ๆ คอมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอาการปวดคอได้
  • หากต้องเดินทางไกล ควรหาหมอนรองคอเพื่อป้องกันอาการปวดคอในระหว่างที่นอนหลับ แล้วคอพับลง จะช่วยป้องกันอาการปวดคอได้ทางหนึ่ง
  • เลือกใช้หมอนที่รองรับสรีระของคอได้พอดี มีความนุ่มพอดี ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป รวมถึงควรเลือกเตียงที่มีความนุ่มพอดีด้วยเช่นกัน
  • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอทุกวัน วันละ 5-10 นาที

ท่าในการบริหารคอ

1.เอามือยันด้านข้างศีรษะ ออกแรงต้านกันสักครู่ นับถึง 5 เปลี่ยนเป็นมือซ้ายทำแบบเดียวกัน ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง

2.ก้มหน้าเล็กน้อย เอามือออกแรงต้าน นับถึง 5 แล้วกลับท่าเดิม พักสักครู่ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง

3.เงยหน้าไปทางด้านหลังอย่างช้า ๆ จนสุด ค้างในท่านั้นสักครู่ ค่อยก้มหน้ากลับสู่ท่าปกติ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์

ข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ