นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคโดยใช้ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" ขยับรุดหน้าไปอีกขั้น โดยล่าสุดในการประชุมบอร์ดพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการฯ รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ
ที่ประชุม ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่" เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับคนไทยสามารถใช้บริการได้ในหน่วยบริการโรงพยาบาลทุกสังกัดข้ามเครือข่ายได้
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาระบบ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" ว่า เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการรับบริการ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ
ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่ถนัดในการใช้มือถือแบบสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ "บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในการรับบริการ" ได้เนื่องจากมีการเชื่อมโยงข้อมูลในการรักษาพยาบาลทุกแห่งได้เช่นเดียวกัน
ไทม์ไลน์ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่"
ระยะที่ 1 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด
กลุ่มเป้าหมาย
ประชาชนทั่วไป : จะมีประวัติสุขภาพแสดงบนโทรศัพท์ สามารถดึงประวัติของตนเองมาเก็บไว้ในสมุดสุขภาพ หรือ Health wallet บนโทรศัพท์ของตนเองได้
หญิงตั้งครรภ์ : จะมีสมุดฝากครรภ์สีชมพูบนโทรศัพท์ ซึ่งถ้าหากต้องการใบรับรองแพทย์ จะเป็นใบรับรองระบบดิจิทัลที่มีลายเซ็นของแพทย์ โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ป้องกันการปลอมแปลง และสะดวกต่อการใช้งาน
กรณีประสงค์จะไปรับยาที่ร้านยา หรือไปเจาะเลือดก็จะมีใบสั่งยา หรือแล็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังร้านยา และแล็บแบบอัตโนมัติ
ขณะที่โรงพยาบาล ร้านยา คลินิก รพ.สต.ใน 4 จังหวัด จะมีระบบการแพทย์ทางไกลที่เชื่อมต่อประวัติสุขภาพผ่านโทรศัพท์ของประชาชน มีระบบนัดหมายออนไลน์ แจ้งเตือนการมารับบริการ การส่งยาทางไปรษณีย์ หรืออื่นๆ พร้อมการเบิกจ่ายผ่านระบบกลาง ที่เตรียมพัฒนาไปสู่ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และต่อยอดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ระยะที่ 2 เมษายน 2567
กระทรวงสาธารณสุข จะเพิ่มระบบจ่ายเงินทางออนไลน์ เมื่อประชาชนไปรับบริการเสร็จแล้วไม่ต้องไปรอที่เคาท์เตอร์จ่ายค่าบริการแต่สามารถกดจ่ายผ่านโทรศัพท์ได้เลย รวมถึงที่ตู้คีย์ออส กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน การส่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลสุขภาพนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หากข้อมูลที่เป็นประวัติส่วนตัวในการรักษาจะมีระบบป้องกันขั้นสูง ต้องมีรหัส OTP ของผู้ป่วยก่อนที่แพทย์จะส่งข้อมูลไปได้เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้นระบบสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเจาะเลือดใกล้บ้านและการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และกฎหมายความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA เป็นสิ่งสำคัญ โดยโครงการนี้นำร่องใน 4 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ โดยมี รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุดมศึกษาฯ รพ.เอกชน คลินิก ร้านขายยา รพ.สต.ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจะนำร่องและนำบทเรียนในพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขก่อนขยายผลต่อไป