รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตามนโยบายยกระดับ 30 บาท “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” เผยความพร้อมต้นเดือนมกราคมนี้ 4 จังหวัด รับบริการได้ในโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาที่ร่วมโครงการ
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมระดับชาติด้านเวชสารสนเทศ ครั้งที่ 12 และการประชุมวิชาการสมาคมเวชสารสนเทศไทย ครั้งที่ 32 ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “สุขภาพดิจิทัลเพื่อชาวไทย คลื่นลูกใหม่ของการขยายบริการสุขภาพถ้วนหน้า” ว่า เรื่องดิจิทัลสุขภาพ เป็น 1 ในนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ตอบสนองนโยบายยกระดับ 30 บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนของรัฐบาล
ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพ โดยงานเวชสารสนเทศจะมีส่วนช่วยให้สามารถนำข้อมูลทางสุขภาพมาใช้วางแผนการจัดการ และปรับปรุงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาทิ การเข้ารับการรักษาด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การจัดทำ Home Ward หรือสถานชีวาภิบาล เพื่อรองรับความต้องการบริการจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย เป็นต้น
โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศนำร่องการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ระยะที่ 1 ในต้นเดือนมกราคมนี้ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และ นราธิวาส ประชาชนสามารถใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา ทั้งโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด โรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ
ส่วนเดือนเมษายน 2567 ทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 จะสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่ง และจะขยายผลครอบคลุมทั้งประเทศให้ได้ภายใน 1 ปี