วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ตรงกับ "วันพ่อแห่งชาติ" ของไทย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันพ่อทั้งในระดับโรงเรียน และหน่วยงานองค์กรต่างๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น เน้นสร้างสายพันธุ์ระหว่างพ่อกับลูกนั้น อาจทำให้หลงลืมอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมไทย นั่นคือ "ครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว" ซึ่งหมายความว่า เด็กๆในครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ย่อมมีความแตกต่างจากเด็กที่อยู่ในครอบครัวร่วมกับพ่อ
จากจำนวนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีเพิ่มขึ้น ทั้งสาเหตุจากการหย่าร้าง การท้องไม่พร้อม หรือการจากไปของผู้เป็นสามีก็ตาม สถิติการขึ้นทะเบียนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในทะเบียน จำนวน 150,000 คน โดยคาดว่ามีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่ได้ลงทะเบียนประมาณ 500,000 คน
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ หนึ่ง ปฐมาภรณ์ ตันจันทร์พงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และเจ้าของช่องTikTok หนึ่งเอง ถึงการรับมือกับสถานการณ์คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ในวันพ่ออย่างเหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อันดับแรก คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องควบคุมอารมณ์ของตนเอง ไม่ระเบิดอารมณ์ใส่ลูกเมื่อลูกของเราถามถึงพ่อของเขา และต่อว่าลูกที่ตั้งคำถามถึงพ่อ
คุณแม่ควรตอบคำถามลูกอย่างเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง แต่อาจไม่ต้องอธิบายรายละเอียดทั้งหมด ให้ตอบตามระดับระดับพัฒนาการของลูกที่จะสามารถเข้าใจได้ เช่น แทนที่จะพูดว่า พ่อนอกใจแม่พ่อไปมีคนอื่น พ่อไม่รักพวกเราแล้ว ก็ให้พูดว่าคุณพ่อมีหน้าที่ต้องทํา คุณพ่อมีอีกครอบครัวหนึ่งที่ต้องดูแล แต่คุณพ่ออยากมาหาลูกนะ
แต่หากคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ยังสามารถพูดคุยกับอดีตสามีได้ คุณแม่สามารถติดต่อไปหาคุณพ่อของลูก แล้วถามถึงความเป็นไปได้ที่จะให้พ่อลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน เนื่องในโอกาสวันพ่อนี้ ซึ่งคุณแม่ต้องมีความกล้าที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ลูกควรจะได้รับ
แต่หากพ่อของลูก ไม่สามารถมาใช้เวลาในวันพ่อกับเด็กๆได้จริงๆ ก็ขอให้คุณแม่เลี้ยงเดียว ทำหน้าที่แสนวิเศษในวันพ่อนี้ ด้วยการพาลูกๆไปเที่ยว สร้างประสบการณ์ดีๆและความสุขร่วมกัน ระหว่างแม่ลูก ให้วันพ่อกลายเป็นวันพิเศษ เป็นวันที่น่าจดจําระหว่างคุณแม่ กับลูกไปเลย
สำหรับโรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมวันพ่อ เชิญคุณพ่อไปที่โรงเรียน ขอให้คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวไปเป็นตัวแทนในฐานะพ่อ ให้ลูกของคุณรู้ว่า ไม่จําเป็นที่จะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น คุณแม่ก็สามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเขาได้ สามารถทําหน้าที่ทั้งแม่และพ่อได้
หนึ่ง ปฐมาภรณ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ เด็กๆควรรับรู้ว่าไม่ได้ขาดความรักจากพ่อและแม่ ถึงแม้ว่าพ่อกับแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกันจะไม่ได้รักกันอีกต่อไปแล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความรักที่พ่อและแม่มีให้ต่อลูก คุณแม่ควรให้ลูกรับรู้ว่า พ่อยังคงรักลูกมากเช่นเดิม เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องทำให้ลูกมีความรู้สึกเกลียดพ่อของตนเอง
คุณแม่อาจพูดให้ลูกเข้าใจว่า พ่อของเขาก็เป็นมนุษย์คนนึงที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง และหากเป็นไปได้ ให้มองภรรยาใหม่ของอดีตสามี เป็นหนึ่งในสมาชิกใหม่ของครอบครัวโดยพูดคุยกับลูกว่า วันนี้คุณพ่อมีคนรักคนใหม่ และผู้หญิงคนนี้เป็นสมาชิกของครอบครัวที่รักพ่อของลูก แทนที่ครอบครัวของเราจะขาด กลายเป็นอาจได้สมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมด้วย
ผู้หญิงหลายคน เมื่อเลิกกับสามีแล้ว อาจความโกรธ มีความขุ่นเคืองในใจเป็นการส่วนตัว ทำให้ตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับอดีตสามีลง แต่หากเป็นไปได้ควรแยกออกจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก
สุดท้าย หนึ่ง ปฐมาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวทุกคน ที่ต้องรับบทหนักในวันพ่อ และไม่ใช่เรื่องง่ายในการตอบคำถามให้กับลูกๆ แต่เชื่อว่าแนวทางเหล่านี้น่าจะพอเป็นตัวช่วยให้กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนเก่งทุกคนได้