กรมอนามัย หนุนมาตรการป้องกันเอดส์ ลดอัตราเด็กติดเชื้อ HIV จากแม่

05 ธ.ค. 2566 | 03:19 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2566 | 05:00 น.

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้มีมาตรการป้องกันโรคเอดส์ ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับต่อผู้ติดเชื้อในสังคมทุกระดับ สอดรับเป้าหมาย WHO “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา”

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขอรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก เป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนทุกประเทศทั่วโลกเข้ามาร่วมกันรณรงค์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ และเป็นการย้ำเตือนว่า

เอชไอวี(HIV) หรือ โรคเอดส์ ยังคงอยู่ 

โดยโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS ได้กำหนดแนวคิดการณรงค์วันเอดส์โลกในปี 2566 คือ "Let Communities Lead" ซึ่งมีความหมายถึง "ให้ชุมชนนำทางมุ่งสู่การยุติเอดส์" เพื่อสนับสนุนให้มีมาตรการป้องกันโรคเอดส์ และส่งเสริมให้เกิดการยอมรับต่อผู้ป่วยติดเชื้อในสังคมทุกระดั[ ซึ่งประเทศไทยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ทั้งนี้ ในปี 2560 – 2573 มีเป้าหมาย คือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” โดยจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เกิน 4,000 รายต่อปี ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลง เหลือไม่เกินร้อยละ 10

ประเทศไทย ครองอันดับ 2 ของโลก ที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก

นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลกในเวทีการประชุม Global Validation Advisory Committee ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลกในการประกาศความสำเร็จดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2565 นับจากครั้งที่ 1 เมื่อปี 2559 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2561 โดยประเทศไทยยังคงรักษาคุณภาพในการดำเนินงาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด ที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 ทั้งนี้ สามารถป้องกันเด็กที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ได้ปีละประมาณ 3,500 คน ทำให้มีเด็กทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีต่ำกว่า 50 รายต่อปี 

เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งของระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็กมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัยมานานกว่า 50 ปี

การประชุมคณะกรรมการขอรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ครั้งที่ 4

กรมอนามัย แนะวิธีการดูแลเพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก

รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวถึง​การลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกไว้ว่า ต้องอาศัยความร่วมมือครอบครัว ชุมชน สังคม และสร้างความเท่าเทียม โดยสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด รวมทั้งลูกและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง ดังนี้ 

1) ฝากครรภ์โดยเร็วก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อได้รับการดูแลสุขภาพตนเองและลูกในครรภ์  

2) รับการปรึกษาพร้อมสามี เพื่อตรวจหาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี 

3) หากหญิงตั้งครรภ์และคู่มีผลการตรวจเลือดเอชไอวีเป็นบวก จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง (HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก 

4) เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และได้รับนมผสมเพื่อทดแทนนมแม่นานถึง 18 เดือน