บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สมาคมการค้าเฮลธ์เทคไทย จัดงาน "Harnessing Social Media for Women’s Health and Well-being ปั้นเฮลท์อินฟลู สู้โรค" เพื่อสร้างและสนับสนุนนักสื่อสารด้านสุขภาพ ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป ให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาให้น่าสนใจ ร่วมกันช่วยกระจายข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ด้วยเทคนิค เครื่องมือ และแพลตฟอร์ม ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสร้างสังคมสุขภาพดี
โดย นายมิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีพันธกิจในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงนวัตกรรมการตรวจคัดกรอง และการตรวจวินิจฉัยที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม เพื่อป้องกันก่อนจะเกิดโรค และติดตามโรคเพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการตัดสินใจรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความมุ่งมั่นสนับสนุนสร้างองค์ความรู้เรื่องสุขภาพและการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนมีความเข้าใจโรคที่ถูกต้อง สามารถดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้
การให้ความรู้ ความเข้าใจกับนักสื่อสารที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องการเป็นเฮลท์อินฟลูเอ็นเซอร์ และสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเฮลท์อินฟลูเอ็นเซอร์อยู่แล้ว ได้พัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์เนื้อหาอย่างมีกลยุทธ์ ผ่านเครื่องมือการสื่อสารและแพลตฟอร์มที่เหมาะสม ทำให้สื่อสารได้อย่างตรงประเด็น เข้าใจง่าย กระชับ และไขข้อสงสัยของประชาชนได้ เป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ หากตรวจพบสาเหตุของการเกิดโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อ HPV สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจ HPV DNA ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" แต่ยังมีประชาชนบางส่วนอาจจะยังไม่ทราบและกลัวการเข้ารับการตรวจ หรือแม้กระทั่งการตรวจคัดกรองด้วย HPV DNA Self-sampling ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เฮลท์อินฟลูเอ็นเซอร์ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล ทางเลือกเหล่านี้ รวมทั้งให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ และรณรงค์เรื่องดังกล่าวให้ประชาชนทราบได้ในวงกว้าง รวมทั้งการนำข้อมูลโรคอื่นๆ ที่อาจจะเข้าใจยาก ไปสื่อสารด้วยภาษาและวิธีการที่เข้าใจง่าย ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด กล่าวเกินจริง หรือสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในยุคที่มีข่าวปลอม (Fake news) เกิดขึ้นมากมาย
ด้าน นายแพทย์ โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ชื่อดัง เจ้าของเพจการแพทย์แปดนาที ช่องทางให้ความรู้และตอบคำถามเรื่องสุขภาพสตรีอย่างเป็นกันเองในโซเชียลมีเดีย และเจ้าของแนวคิดการปั้นเฮลท์อินฟลูสู้โรค กล่าวว่า การช่วยทำให้ผู้ป่วยและประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคต่างๆ เพื่อดูแลตัวเองได้เมื่อเจ็บป่วย ซึ่งปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง และค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดายในอินเทอร์เน็ต แต่พบว่าหลายครั้งข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพที่มีการแชร์กันอย่างมากมายกลับเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ จึงเป็นที่มาของการจัดโตรงการ
โดยเล็งเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถืออยู่แล้ว หากสามารถติดอาวุธให้บุคลากรกลุ่มนี้ รวมถึงหากสามารถสร้างนักสื่อสารด้านสุขภาพในกลุ่มบุคคลทั่วไป เพื่อกระจายข้อมูลที่ถูกต้องผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายหลายสาขาอาชีพ อาทิ "กล้า ตั้งสุวรรณ" จากบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บรรยายในหัวข้อโซเชียลมีเดียเทรนด์ "นพ.สุรัตน์ ผิวสว่าง" จากสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับผู้บริหารบริษัทด้านสุขภาพร่วมกันแชร์ประสบการณ์การทำงานกับอินฟลูเอ็นเซอร์สายสุขภาพ "ปวีณ์นุช ศิวกาญจน์" จาก Ceemeagian ชวนอัปเดต Health Tech trend in 2024 สายเทคโนโลยีและสุขภาพสุขภาพ พร้อมพฤติกรรมของผู้บริโภค กับ "นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา" หมอหัวใจผู้ก่อตั้งร้านอุปกรณ์การวิ่ง Avrin "พญ.ฐิติกรณ์ ตวงรัตนานนท์" ผู้ร่วมก่อตั้ง Fitsloth แพลต์ฟอร์มดูแลสุขภาพ และ "อาธิดา โตสุวรรณ" CMO และเจ้าของเพจแม่สื่อแม่ชัก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายเฮลท์
พร้อมการตอบคำถามประเด็น How to Success in Social Media กับ "พญ.วรายุวดี อมรภิญโญ" หรือ "หมอเจี๊ยบ" เจ้าของเพจ Hello Skin by หมอผิวหนัง "พว.กัลยา โตใหญ่ดี" เจ้าของเพจพี่กัลนมแม่ และ "ภญ.วิภาทิพย์ นิธีปานสืบเชื้อ" เจ้าของช่อง TikTok ให้ความรู้ด้านการใช้ยาและสุขภาพ และปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องเพศของ "ติช่า – กันติชา ชุมมะ" นักแสดง นางแบบ และเจ้าของช่อง I KAN TEACHA อินฟลูผู้เปลี่ยนเรื่องเพศที่เคยเป็นหัวข้อต้องห้ามให้กลายเป็นหัวข้อที่ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้ และติช่าได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำช่องว่าเซ็กส์เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนไทยหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนั่นสร้างค่านิยม และความรู้ที่ผิดให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชน ในทางตรงกันข้ามการให้ความรู้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัยกลับช่วยให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเซ็กส์ที่ถูกต้อง และตระหนักรู้เกี่ยวกับผลที่จะตามมาจากการมีเซ็กส์มากขึ้นด้วย