29 มีนาคม 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบ "การให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี (HPV) และการสนับสนุนตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย"
ทั้งนี้ สำหรับมติบอร์ด สปสช. ในครั้งนี้เป็นคนละส่วนกับนโยบาย สธ. ที่มีการฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV) จำนวน 1 ล้านโดสให้กับหญิงไทยอายุ 11 – 18 ปีที่ได้บรรลุเป้าหมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงปลายปี 2566
โดยรอบนี้จะเป็นการดำเนินการจัดหาวัคซีนเอชพีวี จำนวน 1.7 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้กับหญิงไทยในช่วงที่อายุ 11 -12 ปี (เรียนชั้น ป.5 ในขณะนั้น) ระยะเวลาระหว่างปี 2562 – 2565 ซึ่งได้รับวัคซีนเอชพีวีเพียงเข็มเดียว เนื่องจากเมื่อปี 2562 – 2564 วัคซีนเอชพีวีเกิดภาวะขาดชั่วคราวทั่วโลก ก่อนจะกลับมาจัดหาได้ในปี 2565 และต่อมาในปี 2566 สปสช. ได้มีการกลับมาดำเนินการฉีดให้อีกครั้งแต่ด้วยจำนวนของวัคซีนที่จัดหาได้เพียง 1.6 ล้านโดส จึงทำฉีดได้แค่คนละ 1 เข็มก่อน
นอกจากนี้ในเวลานั้น บอร์ด สปสช. ได้มอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคทำข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนการพิจารณาว่า ควรจะฉีดวัคซีนเอชพีวีกี่เข็ม โดยเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมาทางกรมควบคุมโรคได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการ โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงแนะนำให้การฉีดวัคซีนเอชพีวี 2 เข็มเป็นแนวทางหลักอยู่
อีกทั้งจากการสำรวจฝั่งหน่วยบริการก็พบว่า ยังสามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานและผู้ปกครองเองก็ให้การยอมรับ รวมถึงตัวผู้รับวัคซีนก็สมัครใจที่จะรับวัคซีนเอชพี 2 เข็ม
ขณะเดียวกัน สปสช. ตรวจสอบแล้วว่าการเพิ่มการฉีดวัคซีนเอชพีวีในครั้งนี้ ไม่มีภาระทางงบประมาณ เพราะทางอนุกรรมกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. ได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับจัดซื้อวัคซีนเอชพีวีจำนวนกวา 1.7 ล้านโดสไว้แล้ว ภายใต้วงเงินที่ 643 ล้านบาท จึงเห็นควรให้เดินหน้าต่อ เพื่อให้หญิงไทยได้รับการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่เป็นไปตามหลักวิชากรทางการแพทย์" ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสริมว่า นอกจากการจัดหาวัคซีนแล้ว ทางบอร์ด สปสช. ยังได้มอบให้ สปสช. ร่วมกับกรมควบคุมโรคในการพิจารณาดำเนินการฉีดวัคซีนและจัดซื้อวัคซีนเอชพีวีทุก 4 ปี
ตลอดจนรณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะด้วยแปปเสมียร์ (PAP Smear) การตรวจคัดกรองด้วยการใช้น้ำส้มสายชู (VIA) และการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีระดับ DNA (HPV DNA test) หรือวิธีอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวทางการตรวจคัดกรองตามคำแนะนำทางวิชาการด้วย
รวมถึงขอให้กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาข้อมูลทางวิชาการสำหรับการฉีดวัคซีนเอชพีวีที่เหมาะสมด้วย เช่น เพศ จำนวนครั้งการฉีด ฯลฯ เพื่อนำเข้าสู่กลไกการพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ต่อไป โดยตามมติบอร์ด สปสช. นี้จะมีการดำเนินการในทันทีเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า